4 เหตุผลที่ทำให้คนรักเสียงยังไม่ลืมหลอดสุญญากาศ
เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันแม้เราจะอยู่ท่ามกลางเทคโนโลยีสมัยใหม่ เทคโนโลยี ‘หลอด’ หรือ ‘หลอดสุญญากาศ’ ยังคงอยู่สร้างสีสันให้กับวงการเครื่องเสียงไฮไฟ ในฐานะผู้ผลิตเครื่องเสียงหลอดสุญญากาศที่มีประสบการณ์ในวงการไฮไฟมาอย่างยาวนาน เครื่องเสียงหลอดระดับไฮเอนด์อย่าง VTL ได้สรุป 4 เหตุผลที่ทำให้คนรักเสียงยังไม่ลืมหลอดสุญญากาศเอาไว้ดังนี้
หลอดสุญญากาศมีวงจรที่เรียบง่าย
หากว่าคุณต้องการเครื่องเสียงที่มีความเรียบง่าย มีอุปกรณ์น้อยชิ้น และมีทางเดินสัญญาณที่สั้น เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของเสียง ลดโอกาสการเกิดความผิดเพี้ยน หลอดสุญญากาศคือตัวเลือกที่เหมาะสมทุกประการ
นอกจากนั้นวงจรที่เรียบง่ายยังมีผลดีในแง่ของเสถียรภาพในการใช้งาน เนื่องจากการใช้อุปกรณ์ที่น้อยชิ้น โอกาสที่อุปกรณ์เหล่านั้นเกิดเสียหรือเสื่อมสภาพก็มีน้อยกว่าวงจรที่ใช้อุปกรณ์เป็นจำนวนมาก
หลอดสุญญากาศยังมีความทนทานต่อความเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้นภายในวงจร ตลอดความเบี่ยงเบนของชิ้นส่วนได้ดีกว่า ทำให้มันสามารถใช้งานในวงจรที่เรียบง่ายได้โดยไม่ต้องการวงจรส่วนเสริมมาช่วยปรับแก้ความเบี่ยงเบนเหล่านั้น
หลอดสามารถรองรับภาระเกินกำลังได้อย่างราบรื่น
สัญญาณเสียงดนตรีนั้นเป็นอะไรที่มีการแปรเปลี่ยนของไดนามิกในช่วงกว้างมาก ในภาคขยายเสียงที่ใช้หลอดสุญญากาศเมื่อถูกใช้ขับจนเต็มกำลังการขลิบของยอดคลื่นหรือการแสดงออกว่าอยู่ในภาวะเกินกำลังจะเกิดขึ้นอย่างนุ่มนวลค่อยเป็นค่อยไป โดยที่มีฮาร์มอนิกตามลำดับเลขคู่ในระดับต่ำ
พฤติกรรมเหล่านั้นทำให้เสียงของแอมป์หลอดยังคงความน่าฟังหลงเหลืออยู่บ้างแม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่กำลังวิกฤติ แตกต่างจากภาคขยายเสียงแบบโซลิดสเตทที่ในเวลาถูกใช้งานจนเต็มกำลังแล้วจะสร้างความเพี้ยนเป็นฮาร์มอนิกลำดับเลขคี่ออกมา ซึ่งส่งผลลบโดยต่อคุณภาพเสียง ทำให้เกิดเสียงที่หยาบกร้านระคายหู
ดังนั้นแม้ว่าตัวเลขความเพี้ยนของแอมป์หลอดที่มักปรากฏเป็นค่าตัวเลขที่สูงกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นความเพี้ยนฮาร์มอนิกในลำดับเลขคู่ที่ไม่ทำลายคุณภาพของเสียงมากเท่าความเพี้ยนฮาร์มอนิกในลำดับเลขคี่ของแอมป์แบบโซลิดสเตท
นอกจากนั้นที่ระดับกำลังขับสูงสุดความเพี้ยนที่เกิดขึ้นในแอมป์โซลิดสเตทจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกือบจะมีลักษณะคล้ายกับสัญญาณรูปคลื่นสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นสัญญาณไฟฟ้ามีองค์ประกอบของไฟฟ้ากระแสตรงอยู่ในปริมาณมาก และไฟฟ้ากระแสตรงเหล่านี้สามารถทำลายตัวขับเสียงของลำโพงได้
หลอดมีความเป็นเชิงเส้นมากกว่า และพึ่งพาการป้อนกลับลบที่ในระดับต่ำกว่า
หลอดสุญญากาศเป็นอุปกรณ์ขยายสัญญาณประเภทขยายแรงดันไฟฟ้า แตกต่างจากโซลิดสเตทที่ทำหน้าที่ขยายกระแส ส่งผลให้หลอดเป็นเทคโนโลยีที่มีความเป็นเชิงเส้น (คุณภาพเสียงไม่เปลี่ยนแม้จะเปิดดังหรือเบา) ในการขยายสัญญาณมากกว่า ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการป้อนกลับลบที่ในระดับต่ำกว่าโซลิดสเตท
การป้อนกลับลบแบบรวมคือการนำสัญญาณขาออกส่วนหนึ่งป้อนกลับมาที่สัญญาณขาเข้าด้วยเฟสสัญญาณที่ต่างกัน 180 องศา (กลับเฟสกัน) เพื่อใช้ประเมิน เปรียบเทียบความแตกต่าง และแก้ไขความไม่เป็นเชิงเส้นและลดความเพี้ยน
ทว่าการป้อนกลับลบในปริมาณมากเกินไปจะทำให้การตอบสนองของภาคขยายเสียงนั้นมีความหน่วงช้า ขณะเดียวกันก็ยังลดทอนความมีชีวิตชีวาและอารมณ์ร่วมในเสียงดนตรีลงไปด้วย วงจรขยายเสียงที่ใช้การป้อนกลับลบในปริมาณมากมักให้เสียงที่ปลอม น่าเบื่อ และไม่มีชีวิตชีวา ซึ่งเป็นตรงกันข้ามกับการใช้การป้อนกลับลบในปริมาณน้อย ๆ
อย่างไรก็ดีการใช้การป้อนกลับลบในปริมาณที่เหมาะสมก็มีข้อดีเช่นกัน เช่น ช่วยลดอิมพิแดนซ์ขาออกของวงจรขยายเสียง เพิ่มแดมปิงแฟคเตอร์ ทำให้วงจรขยายเสียงสามารถควบคุมลำโพงได้ดีขึ้น โดยทั่วไปแล้วการป้อนกลับลบในระดับไม่เกิน 20dB ถือว่าเป็นเรื่องที่สามารถยอมรับได้ ซึ่งค่านี้เพียงพอสำหรับความเป็นเชิงเส้นในภาคขยายเสียงที่ใช้หลอดสุญญากาศ แต่สำหรับภาคขยายเสียงที่เป็นโซลิดสเตท โดยทั่วไปแล้วจำเป็นต้องพึ่งพาการป้อนกลับลบในระดับสูงกว่า 50dB เพื่อให้ได้ความเป็นเชิงเส้น
อย่างไรก็ดีสำหรับวงจรขยายเสียงหลอดสุญญากาศที่เป็นแบบซิงเกิลเอนด์และไม่มีการป้อนกลับลบเลย เพื่อทำให้วงจรมีความเรียบง่ายมากที่สุด จะมีอิมพิแดนซ์ขาออกที่สูงมาก และเนื่องจากมีไฟฟ้ากระแสงตรงในปริมาณมากปรากฏที่หม้อแปลงเอาต์พุต ทำให้ตัวหม้อแปลงเอาต์พุตอิ่มตัวได้ง่ายมาก ส่งผลให้ได้ภาคขยายเสียงที่มีกำลังขับน้อยและมีช่วงตอบสนองความถี่ที่แคบมาก
หลอดสุญญากาศกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
ในปัจจุบัน สำหรับเครื่องเสียงหลอดสุญญากาศสมัยใหม่ นอกจากจะมีการพัฒนาใช้งานหลอดยุคใหม่ที่มีคุณภาพดีขึ้นแล้ว องค์ประกอบอื่น ๆ ก็ยังได้รับการพัฒนาตามกันไปด้วยเมื่อเทียบกับในยุคก่อนหน้านี้ เช่น ไดโอดเรคติฟายที่เป็นโซลิดสเตท, ตัวเก็บประจุอิเล็กโทรไลต์รุ่นใหม่ ๆ มีส่วนช่วยให้เสียงที่ได้มีความกระชับแน่นมากขึ้น โดยเฉพาะในย่านความถี่ต่ำ
วัสดุสมัยใหม่ที่นำมาทำเป็นฉนวนก็มีคุณภาพดีขึ้น สามารถนำมาใช้ผลิตหม้อแปลงเอาต์พุตที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น มีการสูญเสียน้อยลง และตอบสนองความถี่ได้กว้างขึ้น สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับลำโพงได้เต็มที่มากขึ้น ส่งผลให้เสียงที่ได้ดีขึ้นทั้งในด้านเสียงทุ้มที่มีน้ำหนัก ความกระชับแน่นและมีรายละเอียดดีขึ้น ในย่านความถี่สูงสามารถทอดประกายหางเสียงได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น
ในแอมป์หลอดสมัยใหม่บางรุ่นยังได้มีการนำเทคโนโลยีไมโครโปรเซสเซอร์มาช่วยปรับค่าไบแอสโดยอัตโนมัติ ตลอดจนการทำหน้าที่คอยควบคุมการทำงานของหลอด หรือแม้แต่การคอยรายงานความผิดปกติต่าง ๆ ทำให้แอมป์หลอดสมัยใหม่นอกจากจะเสียงดีขึ้นแล้วยัง user friendly มากขึ้นด้วย