Wilson Audio : Sasha Series-2

Wilson Audio : Sasha Series-2
Floorstanding Loudspeaker
TEXT : ธานี โหมดสง่า / PHOTO : นิพันธ์ พิมพ์สวัสดิ์ / นิตยสาร : GM2000

ลำโพงคู่แรกของ Wilson Audio ถูกสร้างขึ้นในปี 1982 มีชื่อว่า WAMM (Wilson Audio Modular Monitor) จุดประสงค์เพื่อใช้เป็นมอนิเตอร์สำหรับงานบันทึกเสียงของเขาเอง คู่ที่สองคือ WATT (Wilson Audio Tiny Tot) เป็นลำโพงที่ออกแบบมาเพื่อให้เขาสามารถยกไปใช้มอนิเตอร์การบันทึกเสียงในสถานที่จริงได้ (On-location monitoring speaker)
WAMM มีขนาดใหญ่มาก ทั้งซิสเต็มประกอบด้วยลำโพงตั้งพื้นทรงทาวเวอร์ 2 ตู้ที่ต้องใช้คู่กัน ตู้หนึ่งสำหรับกลาง-แหลม อีกตู้สำหรับทุ้ม ส่วน WATT เป็นแค่ลำโพงสองทางวางหิ้งขนาดกะทัดรัด ลำโพงทั้งสองคือตำนานสำคัญของ Wilson Audio เป็นต้นกำเนิดของลำโพงไฮเอ็นด์ฯ ที่ตั้งราคาไว้สูงมากแต่ก็สามารถขายได้จริง
ตอนออกแบบ WATT เดวิด เอ. วิลสันตั้งใจแค่ให้มันเป็นลำโพงมอนิเตอร์สำหรับตัวเขาเอง แต่หลายๆ คนชอบแนวคิดในการออกแบบของเขาและชื่นชมในน้ำเสียงของมัน สุดท้าย WATT ก็กลายเป็นสินค้า แต่เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น Puppy ตู้เบสสำหรับเสริมความถี่ในย่านต่ำก็ถูกสร้างเสริมออกมา จากวันแรกปี 1983 จนถึงวันนี้ WATT/Puppy ได้ถูกพัฒนาปรับปรุงคุณภาพมาเรื่อยๆ ถึง 7 เจนเนอเรชั่น จาก WATT/Puppy รุ่นแรกมาจบลงที่ WATT/Puppy System 8 ก่อนจะมาเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วย Sasha เมื่อช่วงกลางปี 2009

‘Sasha’
History continues..
ทำไมไม่เป็น WATT/Puppy System 9 ? จากจุดเริ่มต้น WATT ถูกออกแบบมาเพื่อตัวของมันเอง เป็นลำโพงมินิมอนิเตอร์ที่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ในการใช้งานของเดวิด เอ. วิลสัน แต่ WATT ไม่ใช่ลำโพงฟูลเร้นจ์ มันขาดรายละเอียดย่านต่ำที่จะทำให้สเปคตรัมของเสียงมีความสมบูรณ์ครบถ้วน ซับวูฟเฟอร์ Puppy ถือกำเนิดขึ้นมาภายหลังเพื่อภารกิจนี้

จากนั้นมา ตลอดเส้นทางของการปรับปรุงทั้ง WATT และ Puppy เป็นไปในลักษณะของความพยายามที่จะปรับจูน Puppy เข้าหา WATT แต่เมื่อมาถึง WATT/Puppy System 8 เดฟและทีมออกแบบก็คิดได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาควรจะมอง WATT/Puppy เป็นลำโพงซิสเต็มเดียวกัน มากกว่าที่จะมองว่าเป็นลำโพงสองรุ่นที่ใช้งานร่วมกันและทำการพัฒนาแยกกันอย่างในอดีต นั่นก็หมายความว่า ตั้งแต่เวอร์ชั่นที่เป็น Sasha เป็นต้นมา คุณไม่สามารถแยกส่วนหัวของ Sasha ออกไปใช้งานเป็นลำโพงมินิมอนิเตอร์ตามลำพังได้อีก

‘WATT/Puppy System 5’
TWO become ONE..
ที่จริง เดฟกับทีมออกแบบเริ่มมอง WATT กับ Puppy เป็นหน่วยเดียวกันมาตั้งแต่ตอนปรับปรุง WATT/Puppy System 5 แล้ว เพราะนั่นเป็นครั้งแรกที่เดฟและทีมออกแบบได้ทำบางอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือ รื้อพื้นฐานของทั้งตัว WATT และ Puppy มาพัฒนายกเครื่องใหม่พร้อมกัน พวกเขาเปลี่ยนไดเวอร์สำหรับเสียงกลางที่ออกแบบขึ้นมาเองรวมถึงเลือกทวีตเตอร์ invert dome ตัวใหม่ของ Focal ให้กับ WATT พร้อมกันนั้น พวกเขายังได้ทำการอัพเกรด Puppy ใหม่ถึง 3 จุด นั่นคือ
1) ปรับส่วนสัดตัวตู้ของ Puppy ขึ้นมาใหม่
2) เปลี่ยนมาใช้ท่อระบายอากาศที่ทำด้วยอะลูมิเนียม และ
3) เปลี่ยนมาใช้วัสดุ X-material สำหรับตัวตู้ของ Puppy เป็นครั้งแรก
หลังจากนั้น ตั้งแต่ WATT/Puppy System 6 เป็นต้นมา เดฟกับทีมออกแบบก็เริ่มเพิ่มประสิทธิภาพทางด้าน time alignment ให้กับ WATT และ Puppy ด้วยการเพิ่มฟังท์ชั่นปรับมุมคว่ำ/เงยของตัว WATT ผ่านกลไกปรับตั้งเดือยแหลมใต้ตัว Puppy ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหา group delay ที่เกิดขึ้นจากการกระจายความถี่เสียงระหว่างความถี่ย่านต่ำจากตัว Puppy กับความถี่ย่านสูงจากตัว WATT มาถึงตำแหน่งนั่งฟังที่ไม่พร้อมเพรียงกัน
ใน WATT/Puppy System 7 เดฟกับทีมออกแบบได้ทำการเปลี่ยนวูฟเฟอร์ใหม่ให้กับ Puppy และเปลี่ยนมาใช้วัสดุ X-material กับ M-material ในการผลิตตัวตู้ของ WATT รวมถึงได้ทำการไฟน์จูนวงจรตัดแบ่งความถี่ใหม่เพื่อให้เสียงกลาง-แหลมจากตัว WATT กับความถี่ย่านต่ำจากตัว Puppy มีความกลมกลืนกันมากยิ่งขึ้น มาถึง System 8 กับการปรับปรุงวงจรตัดแบ่งความถี่และเปลี่ยนทวีตเตอร์ของตัว WATT ไปใช้รุ่นเดียวกับที่ใช้ในรุ่น MAXX Series 2 รวมถึงเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำตัวตู้เสียงกลางของ WATT มาเป็นวัสดุ X-material กับ M-material เจนเนอเรชั่นที่สี่
‘Sasha Series-2’
The Legacy Continues..
หลังจากศึกษาประวัติการพัฒนาสินค้าของ Wilson Audio มาโดยละเอียด สิ่งที่ผมพบก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า เดฟและทีมออกแบบของเขาใช้แนวทางการพัฒนาสินค้าที่มีความเป็นลำดับขั้นมากทีเดียว ทุกเวอร์ชั่นของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละรายละเอียดเป็นผลที่มาจากเหตุ ทุกรายละเอียดที่ทำล้วนมีเหตุผลรองรับ ไม่มั่วและไม่เพ้อฝัน ผมเคยไปเยี่ยมโรงงานของ Wilson Audio มาแล้ว อยู่ที่ยูธ่าร์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งการไปเยี่ยมโรงงานครั้งนั้น ผมได้รับการถ่ายทอดข้อมูลจากคุณ John Giolas (ตำแหน่งในขณะนั้นคือ Director of Sales and Marketing ของวิลสัน ออดิโอ) กับคุณ Vern Credille (ตำแหน่งในขณะนั้นคือ Director Of R&D & Info Technology ของวิลสัน ออดิโอ) เกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ทำตัวตู้ที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนได้มาซึ่งวัสดุพิเศษถึง 3 รูปแบบ นั่นคือ S-material, M-material และ X-material ซึ่งทำให้ผมรู้สึกทึ่งที่รู้ว่า ตลอดเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าตัวผมจะห่างเหินจากแบรนด์ Wilson Audio ไปนาน แต่ตัวของเดฟเองเขากลับไม่ได้หยุดคิดถึงเรื่องที่จะทำให้ตัวตู้ของลำโพงหลุดพ้นซึ่งปัญหาของเรโซแนนซ์แม้แต่น้อย

 

Sasha Series-2 (ต่อไปจะเรียกย่อๆ ว่า SS2) เป็นระบบลำโพงตั้งพื้นขนาดกลาง ความสูงจากพื้นถึงจุดสูงสุดของตัว WATT อยู่ที่ 114.61 ซ.ม. เท่านั้น ที่ผมใช้คำเรียกว่า ‘ระบบลำโพง’ ก็เพราะ SS2 ประกอบด้วยตู้ลำโพง 2 ตู้ที่ ‘ต้อง’ ทำงานร่วมกัน ชิ้นบนคือตู้ที่ติดตั้งตัวทวีตเตอร์โดมผ้าไหมขนาด 1 นิ้ว กับมิดเร้นจ์กรวยกระดาษปั่นผสมเซลลูโรสขนาด 7 นิ้วอย่างละหนึ่งตัว ไดเวอร์ทั้งสองช่วยกันทำงานในย่านกลาง-แหลม ตัวตู้ถูกออกแบบให้มีทรงคล้ายพีระมิดเพื่อลดปัญหาเสียงก้องสะท้อนภายในตัวตู้ ส่วนตู้ล่างทรงสี่เหลี่ยมเป็นที่ติดตั้งวูฟเฟอร์กรวยโพลี่ฯ ขนาด 8 นิ้วจำนวน 2 ตัวซึ่งถูกกำหนดให้ทำงานในย่านทุ้ม ทั้งตู้เบสและตู้กลาง-แหลมทำงานในระบบ bass reflex ทั้งระบบร่วมกันสร้างความถี่ตั้งแต่ 20Hz – 27,000Hz (+/-3dB)
กลยุทธ์ที่วิลสัน ออดิโอใช้ในการขจัดเรโซแนนซ์ของตัวตู้ก็คือใช้วัสดุพิเศษในการผลิตตัวตู้ โดยเลือกใช้วัสดุผสมที่มี resonance frequency อยู่นอกขอบเขตการตอบสนองความถี่ของตัวไดเวอร์ ตู้บนที่ใช้ติดตั้งมิดเร้นจ์กับทวีตเตอร์ใช้วัสดุ X-Material สำหรับผนังตู้เกือบทั้งหมดของตัวตู้ เว้นไว้แต่แผงหน้าที่ยึดตัวมิดเร้นจ์เขาใช้วัสดุ S-Material ที่มีเรโซแนนซ์ ควีเฟนซี่นอกขอบเขตของเสียงกลางออกไป พร้อมทั้งได้เปิดท่อระบายอากาศขนาดเล็กไว้ที่แผงด้านหลังจำนวนหนึ่งท่อด้วย ส่วนตู้เบสใช้วัสดุ X-Material ทั้งตัวและเจาะรูระบายอากาศขนาดกลางไว้ที่แผงด้านหลังจำนวนหนึ่งรู พร้อมทั้งสวมทับด้วยท่ออะลูมิเนียมเพื่อเพิ่มความลื่นไหลให้กับมวลอากาศในตัวตู้ได้พรั่งพรูออกมาด้วยแรงเสียดทานที่ต่ำมากๆ ช่วยขจัดปัญหาเสียงรบกวนที่เกิดจากแรงลมที่เสียดสีกับขอบท่อระบายอากาศออกไป
ตัวทวีตเตอร์ที่ใช้ใน SS2 เป็นทวีตเตอร์ที่วิลสันพัฒนาขึ้นมาเอง ใช้ชื่อเรียกว่า Convergent Synergy Tweeter (CST) ถูกติดตั้งบนแผงหน้าที่ทำมุมต่างออกไปจากตัวมิดเร้นจ์ (ที่ผลิตขึ้นเองเช่นกัน) เพื่อให้เสียงแหลมกับเสียงกลางเคลื่อนตัวมาถึงจุดนั่งฟังพร้อมกันมากที่สุด..

แม็ทชิ่ง + เซ็ตอัพ + ปรับแต่ง
แม้ว่ารูปร่างภายนอกจะดูบึกบึนเหมือนหุ่นทรานฟอร์เมอร์ แต่พอดูสเปคฯ ของ SS2 แล้วบอกตรงๆ ว่าผมรู้สึกโล่งอกมาก มันมีความไวสูงถึง 92dB/W/m อิมพีแดนซ์เฉลี่ยอยู่ที่ 4 โอห์ม ลาดลงต่ำสุดไม่เกิน 2.17 โอห์ม (วัดที่เซ็นเตอร์ความถี่ 90Hz) แสดงว่าระบบลำโพงนี้ส่งผล ‘ต้าน’ ต่อการจ่ายกำลังของแอมป์ฯ ไม่มากนัก อีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่โหลดแอมป์ฯ มากนั่นเอง แสดงว่าไม่ค่อยกินวัตต์.? อือมม.. ไม่เชิง ถ้าจะให้พูดให้ใกล้เคียงความจริงต้องบอกว่า ระบบลำโพงนี้น่าจะให้เสียงที่ออกมา ‘ฟังดี’ แม้ว่าจะใช้แอมป์ที่มีกำลังขับไม่มากและมีความสามารถทนกำลังขับได้สูงจะถูกต้องมากกว่า ซึ่งทางผู้ผลิตแนะนำให้ใช้กำลังขับจากแอมปลิฟายไม่ต่ำกว่า 20 วัตต์ นั่นยิ่งทำให้ผมรู้สึกโล่งอกมากขึ้นอีก และคิดว่า อินติเกรตแอมป์ที่มีคุณภาพสูงๆ และมีกำลังขับอยู่ระหว่าง 100-200 วัตต์ต่อข้างน่าจะพอทำให้ SS2 ปลดปล่อยความมหัศจรรย์ออกมาได้แล้ว จากข้อมูลทางสเปคฯ ส่อแววว่า SS2 จะเป็นชุดลำโพงที่แม็ทชิ่งไม่ยาก และดูเหมือนจะเป็นมิตรกับทั้งแอมป์หลอด (อิมพีแดนซ์ไม่เหวี่ยงมาก) และโซลิดสเตทอีกด้วย
ยกแรกของการทดสอบผมจัดอินติเกรตแอมป์ 3 ตัวลองเล่นกับ SS2 เริ่มด้วย Ayre Acoustics AX-5 (Solid State/125Wpc@8Ohm & 250Wpc@4Ohm), Devialet 240 (ADH Solid State/240Wpc@6Ohm) และ GamuT Di150 (Solid State/180Wpc@8Ohm & 380Wpc@4Ohm) ก่อนจะตบท้ายสรุปรวบยอดด้วยชุดจอมพลังปรี+เพาเวอร์ของ Boulder รุ่น 2010 Isolated Preamplifier + 2060 Stereo Power Amplifier (Solid State/600Wpc@8Ohm, 1200Wpc@4Ohm & 2400Wpc@2Ohm)
ส่วนฟร้อนต์เอ็นด์ผมใช้ USB-DAC ของ Ayre Acoustics รุ่น QB-9 DSD เล่นไฟล์ไฮเรซฯ PCM และ DSD จากคอมพิวเตอร์ Mac mini และใช้เครื่องเล่นแผ่น CD/SACD ของ Esoteric รุ่น K-03 เล่นแผ่นซีดีกับแผ่น SACD ร่วมด้วย
ยกแรกที่ใช้อินติเกรตแอมป์ทั้งสามตัวขับ SS2 ผมพบว่า GamuT Di150 ให้ผลลัพธ์ในการแม็ทชิ่งออกมาน่าพอใจมากที่สุด ส่วนเสียงที่ AX-5 กับ Devialet 240 ให้ออกมานั้นก็ย่อหย่อนลงไปนิดหน่อย ซึ่งตอนแรกนั้น เสียงของ SS2 ที่ลองแม็ทชิ่งกับอินติเกรตแอมป์ทั้งสามตัวนี้ก็ให้อรรถรสของความเป็นดนตรีออกมาน่าพอใจมากแล้ว แต่พอเอาปรี+เพาเวอร์ฯ ของ Boulder อัดเข้าไปตอนท้ายผมจึงรู้ว่าที่ได้ยินจากการขับด้วยอินติเกรตแอมป์นั้นมันได้แค่ 50-60% ของ SS2 เท่านั้นเอง ซึ่งปรี+เพาเวอร์ฯ ของ Bolder คู่นี้สามารถถลุง SS2 ออกมาจนหมดไส้หมดพุง รายละเอียดพรั่งพรูออกมาครบหมดทั้งระดับ Low Level และ High Level จนผมรู้สึกว่าคู่ 2010+2060 ของโบลเดอร์คู่นี้อาจจะ ‘แรง’ เกินไปสำหรับ SS2 ซะด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในห้องฟังที่ GM2000 ซึ่งไม่ใหญ่มาก (กว้าง 360 ม./ลึก 5.7 ม./สูง 3.4 ม.) ถ้าขยายห้องฟังออกไปได้สัก 5×7 ตารางเมตรน่าจะลงตัวมากกว่านี้
หลังจากลองฟังกับแอมปลิฟายทั้งหมดที่ผมมีอยู่แล้ว ผมพอได้ข้อสรุปส่วนตัวประมาณว่า ถ้าห้องฟังของผมมีขนาดไม่เกิน 4x6x3 ม. และผมมีงบจำกัด ผมจะเริ่มต้นด้วยอินติเกรตแอมป์ Di150 ของ GamuT ไปก่อน แต่ยอมลงทุนกับฟร้อนต์เอ็นต์ที่มีคุณภาพสูงๆ อย่างในกรณีนี้ ชุด Esoteric K-03 + GamuT Di150 + Wilson Audio Sasha Series-2 คือจุดที่ลงตัวและน่าพอใจทั้งในแง่ของคุณภาพเสียงและงบประมาณที่จ่าย
SS2 เป็นลำโพงตั้งพื้นที่สามารถไฟล์จูนเสียงได้ละเอียดเหมือนลำโพงเล็ก เดฟ วิลสันกับทีมออกแบบของเขาอาศัยหลัก time alignment ในการแก้ปัญหาเรื่องความกลมกลืนของเฟสสัญญาณระหว่างกลาง-แหลมของ WATT กับทุ้มของ puppy แต่เป็น time alignment ที่สามารถปรับจูนได้ ไม่ใช่แค่ตัดเฉียงแผงหน้าของตัวตู้ให้ลาดลงเท่านั้น ด้วยการติดตั้งเดือยแหลมไว้ใต้ขอบตู้ด้านหลังของตัว WATT ทำให้สามารถปรับเลือกระดับสูง-ต่ำเพื่อกำหนดมุมคว่ำหรือหงายให้กับตัว WATT ได้ เป็นการปรับจูนเสียงด้วยกระบวนการทางอะคูสติก ซึ่งเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด แทนที่จะไปแก้ชดเชยด้วยวงจรพาสซีฟอิเล็กทรอนิคบนเน็ทเวิร์คซึ่งจะส่งผลข้างเคียงในแง่ลบต่อสัญญาณเสียง
เมื่อขยับเข้าไปดูใกล้ๆ จะพบว่า ส่วนที่ใช้รองรับส่วนปลายของเดือยแหลมของตัวตู้ WATT นั้นถูกทำขึ้นมาด้วยแท่งอะลูมิเนียมที่เจียระไนขึ้นมาเป็นขั้นบันไดเล็กๆ จำนวน 10 ขั้นแล้วยึดตรึงอยู่กับผนังด้านบนของตู้ puppy คุณสามารถกำหนดจุดที่ความถี่กลาง-แหลมจาก WATT กับความถี่ต่ำจาก puppy เดินทางออกจากตู้ไปบรรจบกันที่จุดนั่งฟังได้ถึง 10 ตำแหน่ง มิหนำซ้ำ ทางวิลสันยังให้เดือยแหลมที่ใช้ติดตั้งใต้ตัวตู้ WATT มา 3 ชุด ความยาวต่างกัน 3 ขนาด นั่นก็หมายความว่า ที่ตำแหน่งวางลำโพง SS2 จุดเดียวกัน คุณสามารถเลือกจุดบรรจบของความถี่กลาง-แหลมจากตัว WATT กับความถี่ย่านต่ำของตัว puppy ให้ต่างกันได้มากถึง 30 จุด สามารถแม็ทชิ่งไปตามระยะนั่งฟังได้ถึง 30 จุดด้วยกัน ไม่ว่าคุณจะนั่งฟังในตำแหน่ง near-field, mid-field หรือ far-field ก็สามารถเซ็ตอัพให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีเสมอกันได้ทุกตำแหน่ง!
จากที่ผมได้มีโอกาสทดลองปรับเล่นตรงจุดนี้ บอกได้เลยว่า มันส่งผลต่อเสียงเยอะมาก! ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโฟกัสของเสียงเท่านั้น แต่กระทบไปหมดทั้งในแง่ของโทนัลบาลานซ์ ซาวนด์สเตจ และไดนามิกด้วย ต้องใช้เวลามากพอสมควรในการปรับตั้งจนได้ตำแหน่งที่ดีที่สุดในห้องหนึ่งๆ และที่จุดนั่งฟังเฉพาะ แต่เนื่องจากแต่ละขั้นบันไดของตัวรองเดือยแหลมมีระดับไม่ต่างกันมาก ทำให้แม้ว่าคุณจะยังไม่ได้เซ็ตอัพไว้ในตำแหน่งที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ในสถานการณ์นั้นๆ แต่เสียงที่ออกมาก็ฟังได้ ไม่ได้เสียหายไปจนรับไม่ได้ วิธีการปรับตั้งมุมคว่ำ-เงยของตัว WATT นี้ควรจะทำหลังจากหาตำแหน่งลำโพงกับกำหนดจุดนั่งฟังให้ลงตัวมากที่สุดก่อน (ค่ากลางๆ คือใช้เดือยแหลมที่มีความยาวขนาดกลางจิ้มลงบนขั้นบันไดขั้นที่ 5)
ในกล่องไม้ขนาดใหญ่ที่บรรจุลำโพงมามีล้อยางขนาดใหญ่มาให้ 8 ล้อสำหรับขันยึดใต้ตู้ลำโพง puppy ทั้งสองตัว ทำให้สามารถเข็นเลื่อนได้ง่ายๆ (ในการเคลื่อนย้ายตำแหน่งของ SS2 คุณคงไม่อยากใช้วิธียกมันไปแน่ๆ ผมรับประกันได้!) แนะนำให้ใช้ล้อยางนี้ขณะเซ็ตอัพหาตำแหน่งวาง หลังจากได้ตำแหน่งแล้ว ควรใส่ล้อยางทิ้งไว้ขณะเบิร์นฯ สัก 50 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ซึ่งในระหว่างเบิร์นฯ ไปเรื่อยๆ คุณจะพบว่าเสียงของมันเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้ต้องคอยขยับตำแหน่งลำโพงอยู่เรื่อยๆ เช่นกัน เมื่อคิดว่าลำโพงผ่านขั้นตอนเบิร์นฯ จนได้ที่แล้วจึงค่อยขันล้อออกแล้วใส่เดือยแหลมลงไปแทนจะได้เสียงที่นิ่งและได้โฟกัส ไมโครไดนามิก และทุกอย่างที่ดีขึ้นไปอีก

คุณภาพเสียง + ลักษณะเสียง
ก่อนเขียนรีวิวลำโพงคู่นี้ ผมมีข้อมูลเกี่ยวกับ Wilson Audio และลำโพงคู่นี้อยู่ในมือเยอะแยะ (ผมได้ไปเยี่ยมโรงงานของ Wilson Audio มาเมื่อสองปีที่แล้ว ก่อนลำโพงคู่นี้จะคลอดออกมา) หลังจากได้ Sasha Series-2 มาแล้ว ช่วงเวลาที่เบิร์นฯ มันอยู่ในห้องฟัง ผมใช้เวลาช่วงนั้นนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เพื่อทำในการประมวลข้อมูลเหล่านั้นมาเขียนเกริ่นนำ แต่คุณรู้มั้ยครับ.. ช่วงเวลาที่ผมเริ่มต้นนั่งลงฟังลำโพงคู่นี้คือช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมากที่สุดในการทดสอบลำโพงคู่นี้!
อุปกรณ์เครื่องเสียงบางชิ้นอาจจะทำให้รู้สึกตื่นเต้นไปกับ innovation ใหม่ๆ ของมัน ในขณะที่บางชิ้นนั้นแทบจะไม่มีอะไรให้รู้สึกน่าสนใจเลย แต่ในช่องว่างระหว่างเครื่องเสียงสองประเภทนั้น ผมพบว่า มีอุปกรณ์เครื่องเสียงไม่มากนักที่จะทำให้ผมรู้สึกตื่นตัวไปกับมัน ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและอยากที่จะทดสอบมัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ประสบการณ์ของคุณเชี่ยวพอที่จะสามารถ ‘จับทาง’ ได้ คุณจะรู้สึกได้ทันทีว่า เครื่องเสียงชิ้นไหนที่น่าจะให้เสียงที่ ‘หลุดพ้น’ ไปจากวงเวียนเดิมๆ และนำไปสู่เป้าหมายใหม่ที่ก้าวกระโดดไปข้างหน้า
ผมเริ่มต้นฟัง WATT/puppy มาตั้งแต่เวอร์ชั่น WATT3/puppy2 และรู้มาตั้งแต่สมัยนั้นว่า David A. Wilson ให้ความสำคัญกับตัวตู้ของลำโพงอย่างมาก เขาพยายามมาตลอดที่จะลดปัญหาแทรกซ้อนของตัวตู้ลำโพงลงไปให้ได้มากที่สุด เริ่มต้นจากการเลือกใช้ลักษณะตัวตู้ที่มีผนังตู้ขนานกันให้น้อยที่สุด เพื่อลดปัญหาคลื่นสั่นค้างภายในตัวตู้ซึ่งจะส่งผลข้างเคียงแง่ลบกับการขยับตัวของไดอะแฟรม นั่นคือที่มาของตัวตู้ทรงพีระมิดของ WATT และค้นหาวัสดุที่ใช้ทำตัวตู้ที่ปราศจากปัญหาเรโซแนนซ์อย่างสิ้นเชิง
ในยุคก่อนโน้น ขณะที่คนทำลำโพงเจ้าอื่นยังคงใช้ไม้ MDF ทำตู้ลำโพง แต่เดวิดก้าวล้ำไปกว่านั้นมาก เขาใช้อะครีลิกผสมผงแร่มาทำตัวตู้ของลำโพง WATT รุ่นแรกๆ เพื่อให้ได้ความแกร่งและขยับจุดเรโซแนนซ์ของตัวตู้ไปอยู่ในย่านความถี่ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับความถี่ที่ไดเวอร์ทำงาน ซึ่งมันได้ผล.. เพราะ WATT ตัวนั้นนี่เองที่ทำให้ Wilson Audio เป็นได้อย่างทุกวันนี้!
ผมยอมรับว่า David A. Wilson คือคนจุดประกายความคิดให้กับผมเกี่ยวกับตัวตู้ที่ปราศจากเรโซแนนซ์ เขาทำให้ผมต้องคิดตามว่า มันเป็นไปได้เหรอที่จะทำให้ตัวตู้ของลำโพงปราศจากเรโซแนนซ์อย่างเด็ดขาด? และถ้าสามารถทำให้ตัวตู้ลำโพงปราศจากเรโซแนนซ์ได้จริงๆ แล้ว เสียงที่ออกมาจะเป็นอย่างไร..?
เมื่อได้ยินเสียงของ Sasha Series-2 แล้ว สิ่งที่ได้ยินจากลำโพงคู่นี้ทำให้ผมหวนคิดถึงแนวคิดในการประเมินคุณภาพของอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ Mark Wheeler แห่งสำนัก TNT Audio นำเสนอไว้เมื่อปี 1974 นั่นคือ PRaT หรือ Pace, Rhythm and Timing* และได้ถูก Martin Colloms นักเขียนทางฝั่งอังกฤษจากค่าย Hi-Fi News & Record Review นำมาเจียระไนอีกครั้งเมื่อปี 1992 เป็น Pace, Rhythm and Dynamics** ซึ่งเป็นแนวความคิดที่นักเขียนทั้งสองใช้เป็นวิธีการประเมินคุณภาพของอุปกรณ์เครื่องเสียง อาจพูดได้ว่า PRaT คือที่มาของคำว่า ‘เป็นดนตรี’ นั่นเอง
ตัวผมเองเคยอ่านบทความทั้งสองชิ้นนี้มายี่สิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ Martin Colloms เขียนขึ้นมาครั้งแรก หลังจากนั้นผมจึงไปค้นเจอที่ Mark Wheeler นำแนวคิด PRaT ของเขามาขัดเกลาใหม่และเขียนมันทิ้งไว้ในเว็บไซต์เมื่อปี 2008 อีกครั้งหนึ่ง ผมครุ่นคิดถึงแนวทางที่ว่านี้และพยายามตีความมันอยู่นาน ทุกครั้งที่ทดสอบอุปกรณ์เครื่องเสียง ผมก็พยายามมองหา PRaT มาตลอดและเริ่มคิดว่าเจอความหมายของ PRaT ครั้งแรกตอนที่ทดสอบสายสัญญาณและสายลำโพงของ Nordost นั่นเอง และเข้าใจทันทีเมื่อ Harry Pearson อ้างอิงถึง ‘speed’ ในบททดสอบสายสัญญาณ+สายลำโพง Nordost รุ่น Valhalla
คุณสมบัติของความเป็นเพลงคือ ‘Rhythm’ หรือจังหวะ แต่สิ่งที่ทำให้เพลงน่าฟัง น่าติดตามและมีอารมณ์ร่วมไม่ใช่จังหวะ แต่เป็น pace หรือ pitch ของเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นที่เล่นสอดรับกันอยู่ในเพลงนั้นต่างหาก ซึ่งนักดนตรีแต่ละคนในวงดนตรีระดับที่เป็นมืออาชีพจะคอยเล่นเครื่องดนตรีของตัวเองให้สอดประสานคอยรับ-ส่งกับเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ ของสมาชิกในวงอย่างมีอารมณ์ ไม่ได้คอยพะวงอยู่ในข้อจำกัดของจังหวะของเพลงตลอดเวลา เวลาฟังเพลงอะไรก็ได้ผ่านชุดเครื่องเสียง ให้ลองสมมุติเอาตัวเองเข้าไปเล่นเครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งในวงนั้นแทนนักดนตรีคนนั้นดูแล้วจะเข้าใจความหมายของคำว่า pace หรือ pitch ที่ว่านี้ชัดขึ้น
ตัวตู้ที่ปราศจากเรโซแนนซ์ทำให้ไดเวอร์ทั้ง 4 ตัวขยับไดอะแฟรมไปตามแรงกระตุ้นจากเพาเวอร์แอมป์ได้อย่างเที่ยงตรงมากๆ จะสั่นหรือหยุดก็เป็นไปตามแรงดึงและผลักของว๊อยซ์คอยที่ได้รับแรงกระตุ้นมาจากเพาเวอร์แอมป์ ไม่มีอาการแกว่งเพราะแรงสั่นของตัวตู้เข้ามารบกวน นั่นทำให้ได้ resolution ของเสียงที่มากมาย ครบถ้วน และเที่ยงตรง กับความไวของระบบที่สูงถึง 92dB/W/m ทำให้แม้รายละเอียดในระดับ Low Level ก็สามารถส่งผ่านไดอะแฟรมของไดเวอร์ออกมาถึงหูของผมได้ ใครที่เคยอ่านพบประโยคที่ว่า ‘.. สามารถแยกแยะออกมาได้ชัดว่า เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นในเพลงนั้นมีมูพเม้นต์เป็นอย่างไร ชิ้นไหนเล่นช้า ชิ้นไหนเล่นเร็ว และรับรู้ได้ถึงอากัปกิริยาที่นักดนตรีแต่ละคนกระทำกับเครื่องดนตรีของเขา..’ ในบทวิจารณ์ของผมและเคยนึกฉงนว่าสิ่งที่ผมกล่าวอ้างถึงคืออะไร แนะนำให้ซื้อลำโพงคู่นี้ไปลองฟังดู แล้วคุณจะเข้าใจอย่างถ่องแท้..
บางคนถามผมว่า ทำไมเขาจึงไม่ได้ยินอะไรแบบที่ผมกล่าวอ้างข้างต้น..? เป็นเพราะหูของเขายังไม่สามารถแยกแยะได้ ใช่หรือเปล่า.? อาจจะใช่.. และอาจจะไม่ใช่ เพราะทักษะการฟังก็มีส่วน แต่ผมพบว่า จริงๆ แล้ว คุณภาพของอุปกรณ์เครื่องเสียงมีส่วนมากกว่า โดยเฉพาะลำโพงที่ดีมากๆ จะทำให้คุณเจอะเจอกับสิ่งที่ผมกล่าวอ้างได้ชัดขึ้น SS2 ทำให้ผมได้ยินทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้นและกำลังดำเนินไปในเพลงที่กำลังฟังแบบไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ เลย มันไม่ได้ผลักไสรายละเอียดเหล่านั้นออกมาโยนใส่ผม มันแค่ ‘ปลดปล่อย’ ให้รายละเอียดเหล่านั้นพรั่งพรูออกมาให้ผมได้ยินอย่างที่มันถูกบันทึกไว้ในเพลงแบบนั้นต่างหาก SS2 ไม่ได้พยายามทำให้เพลงที่ผมฟังมีความไพเราะมากขึ้น แต่มันทำให้ผมเห็นว่า เพลงนั้นมีความไพเราะมากแค่ไหน ในขณะที่บางเพลงกลับสร้างรอยตำหนิไว้มากมายแต่ก็ยังมีความเป็นดนตรีปะปนอยู่ในนั้นให้พอรับรู้ได้
SS2 เป็นลำโพงที่คอยบอกว่าแต่ละเพลงที่ผมฟังผ่านมันออกมามีลักษณะเป็นอย่างไร โทนัลบาลานซ์เป็นอย่างไร ซาวนด์สเตจเป็นอย่างไร ไดนามิกสวิงแบบไหน เนื้อเสียงหยาบหรือเนียนเช่นไร โดยที่มันไม่เคยพยายามบอกผมว่าตัวมันมีบุคลิกอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ามันมีความพิเศษกว่าลำโพงคู่อื่นๆ ที่ผมเคยทดสอบมา นั่นคือ มันให้ความเป็นดนตรีออกมาเสมอไม่ว่าจะเล่นเพลงที่บันทึกมาดีหรือเลว ในปริมาณที่ลดหลั่นกันไปตามเพลง และมันยังทำให้ผมค้นพบความเป็นดนตรีในอัลบั้ม ‘ยาขม’ ที่ฟังยากๆ อย่างพวก cello concerto อีกด้วย..
ความใสของ SS2 คือหนึ่งในคุณสมบัติที่ทำให้มันมีความเป็นมอนิเตอร์ ความสามารถในการถ่ายทอดสปีดของเสียงที่รวดเร็วทำให้ได้โฟกัสของเสียงที่แม่นยำ ได้อิมแพ็คของหัวเสียงที่คมชัดรวมถึงได้โครงสร้างฮาร์มอนิกที่ครบถ้วนตามมา เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเสียงกีต้าร์ของทั้งสามเซียนคือ Al Di Meola, John Mclaughlin และ Paco de Lucia ในอัลบั้มชุด Passion, Grace & Fire กระจ่างออกมาครบทุกเม็ด (2001 SHM Japan Remastered)(DSF/2ch) ไม่ว่าเขาทั้งสามจะกรีดนิ้วด้วยความฉับไวขนาดไหนก็ไม่พ้นความสามารถในการขยับตัวของไดอะแฟรมของไดเวอร์ทั้งสี่ตัวของ SS2 ไปได้ ทุกมูพเม้นต์ของทั้งสามถูก SS2 จับมาตีแผ่จนเกลี้ยง!

ผมเคยสงสัยว่าทำไมเดฟ วิลสันจึงเลือกทำมิดเร้นจ์ขนาด 7 นิ้ว แทนที่จะเป็น 4 หรือ 5 นิ้ว อย่างที่คนอื่นเขานิยมกัน.? ต่อเมื่อได้ฟังเสียงของป้าเอลล่าในเพลง The Nearness Of You (จากอัลบั้มชุด Ella & Louis ไฟล์เสียง DSF/2ch เวอร์ชั่นโมโนฉบับรีมาสเตอร์ของค่าย Analogue Productions) กับเสียงร้องของลุง Ingram Washington ในอัลบั้มชุด What A Difference A Day Makes (STS 6111118) (DSF)(2ch) และลุง Aaron Neville ในอัลบั้มชุด Nature Boy – The Standard Album (2003 Verve Records)(DSF/2ch) แล้วผมก็เข้าใจ เพราะมิดเร้นจ์ตัวใหญ่กว่าครอบคลุมย่านกลางได้ครบกว่า ทำให้ได้เสียงร้องที่มีบอดี้อิ่มเต็มมากกว่านั่นเอง โดยเฉพาะเสียงร้องของนักร้องชายที่เร้นจ์เสียงคลุมลงมาถึงย่านกลางต่ำๆ อย่างเสียงของลุงอินแกรมก็จะได้รายละเอียดออกมาครบสมบูรณ์มากขึ้น ทั้ง fundamental และ harmonic structure ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อตัวตู้ไร้ซึ่งเรโซแนนซ์มารบกวน ก็ทำให้ได้ทั้งไมโครและแมคโครไดนามิกที่ดีขึ้นมากด้วย รู้สึกได้เลยว่าเวลาไดนามิกมันสวิงจากดังไปเบาหรือจากเบาไปดังมีความราบรื่น นิ่งและไม่สะดุดในอารมณ์ นั่นทำให้ผมรับรู้ถึงลักษณะการควบคุมลมหายใจของป้าเอลล่าได้อย่างชัดเจน ชัดลงไปถึงอาการสั่นของหลอดคอขณะที่ป้าแกเขย่าลูกคอหลายๆ ชั้นด้วย (สาบานได้ว่าผมไม่เคยได้ยินชัดเท่านี้มาก่อน!)

ผมมั่นใจกับการใช้คำว่า ‘ปลดปล่อย’ มากขึ้นเมื่อลองฟังอัลบั้มชุด Folk Singer (1999 MCA-Chess 088 112 940-2)(DSF/2ch) ของ Muddy Waters เพราะใครที่รู้จักอัลบั้มนี้คงรู้ดีว่า คุณปู่มัดดี้แกร้องดุขนาดไหน เสียงโหนกระชากเสียงที่ร้ายกาจของแกในอัลบั้มนี้เคยทำให้ทวีตเตอร์บางตัวถึงกับแคร็กมาแล้ว แต่กับ SS2 คู่นี้ปู่มัดดี้สามารถวาดลวดลายออกมาได้อย่างเต็มที่ ได้ทั้งอารมณ์ที่สดดิบและซาวนด์สเตจที่น่าพิศวง เสียงโน๊ตเบสของวิลลี่ ดิ๊กซอนหลุดลอยออกมาจากตัวลำโพงอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่เสียงโซโล่กีต้าร์ของบัดดี้ กายก็หลุดออกไปอยู่อีกด้านหนึ่งของห้อง ละอองเสียงที่เป็นบรรยากาศในห้องบันทึกเสียงที่ Tel Mar Recording Studios พร่างพรายและอบอวลไปทั้งห้อง เหมือนนั่งฟังการแสดงอันปลั๊กสดๆ กระนั้น!.. ฟินมาก!!

ฟังลำโพงใหญ่ระดับนี้ต้องขอลองฟังเพลงคลาสสิกครับ มันจะบอกอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะลำโพง Wilson Audio เนื่องเพราะตัว David A. Wilson เองเขาใช้ประสบการณ์ที่ได้จากการฟังเสียงของวงออเคสตร้าบรรเลงสดที่ Musikverein Concert Hall (อยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย) เป็นบรรทัดฐานในการพัฒนาลำโพงของเขา ซึ่งก็ไม่มีอะไรหลุดโผ ทันทีที่เวลาบนหน้าจอเครื่องเล่นออกสตาร์ท ตัวเลขวินาทีของแทรค The Great Gate OF Kiev ในอัลบั้มชุด Pictures At An Exhibition (TELARC SACD-60042)(DSF/2ch) เปลี่ยนจากศูนย์ ความอลังการของวง The Cleveland Orchestra (คอนดักซ์โดย Lorin Maazel) ก็ตะหง่านขึ้นมาในห้องฟังของผมทันที! SS2 แสดงภาพของแทรคนี้ออกมาได้อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งโอ่อ่า ทรงพลัง และลึกลับ เช่นเดียวกับแทรค Marche Slave, Op. 31 ในอัลบั้ม Tchaikovsky 1812 (TELARC SACD-60541)(DSF/2ch) ที่ความอุตลุดจะค่อยๆ คืบคลานมาเรื่อยๆ จนถึงขั้นกัมปนาทในตอนท้ายๆ ซึ่ง SS2 ก็สามารถปลดปล่อยและควบคุมทุกอย่างเอาไว้ได้อย่างอยู่หมัดจริงๆ
……………………..
สรุป
แน่นอนว่า SS2 ไม่อาจสู้ผู้พี่ Alexia ได้ ส่วนที่ต่างกันมากที่สุดอยู่ที่ย่านทุ้มทั้งหมด เท่าที่ผมเคยฟังมา กลาง-แหลมไม่ต่างกันมาก แต่ย่านทุ้มตั้งแต่อัพเปอร์เบสลงไปยันดีฟเบส SS2 เป็นรอง Alexia อยู่พอสมควร ในย่านมิดเบสลงไป SS2 สามารถแจกแจงหัวโน๊ตเบสออกมาได้ครบถ้วนไม่ต่างกัน หากแต่ Alexia ผู้พี่สามารถ ‘พอก’ มวลของโน๊ตเบสแต่ละลูกลงไปได้อีก ทำให้ได้เนื้อมวลที่อิ่มหนากว่า และ Alexia ยังสามารถคลี่ขยายฮาร์มอนิกของเสียงทุ้มลงไปได้ลึกและแน่นกว่าด้วย
ได้ฟัง SS2 คู่นี้แล้ว มันทำให้ผมหวนคิดถึง ‘วิธีคิด’ ของคนเล่นเครื่องเสียงสมัยหนึ่ง ที่ว่า ให้เทงบไปกับลำโพงเยอะๆ เลือกลำโพงที่คุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะสามารถสู้ได้ไว้ก่อน ยอมลดขนาดของแอมป์ลงไปก่อน ไว้มีงบค่อยขยับแอมป์ตามขึ้นมา.. รู้มั้ยครับว่า ตอนเล่นเครื่องเสียงใหม่ๆ ความเชื่อที่เกิดจากวิธีคิดแบบนี้พาผมหลงทางไปตั้งนานสองนาน วนไปวนมาเปลี่ยนเครื่องตั้งหลายชุด เหตุผลก็เพราะว่า ลำโพงดีๆ ในยุคก่อนมักจะกินวัตต์มากเป็นพิเศษ ความไวมักจะต่ำ พอเจอกับแอมป์ที่อ่อนสมรรถนะ เสียงออกมาฟังแล้วเสียดายลำโพงไปเลย บางคนไปโทษที่ลำโพง แต่ส่วนใหญ่จะโทษแอมป์ ในขณะที่งบเท่าๆ กัน (แอมป์+ลำโพง) กลับเป็นว่า เทงบให้แอมป์เยอะหน่อย แล้วยอมลดระดับของลำโพงมาเล่นเป็นรุ่นที่ย่อมลงนิด กลับให้คุณภาพเสียงโดยรวมที่ดีกว่า น่าฟังกว่าเยอะ เนื่องเพราะแอมป์มันควบคุมลำโพงอยู่ ลำโพงไม่โอเว่อร์โหลดแอมป์… มายุคหลังๆ นี้ ถ้าสังเกต จะเห็นว่า ลำโพงดีๆ รุ่นใหม่ๆ จะขับง่ายขึ้น ความไวสูงขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้แอมป์ที่มีกำลังช้างสารก็ขับออกมาได้เสียงที่น่าฟังและได้คุณภาพเสียงที่น่าพอใจมากแล้ว ในขณะเดียวกัน เมื่อเพิ่มเติมแอมปลิฟายที่มีสมรรถนะสูงขึ้นไปอีกในภายหลัง คุณภาพเสียงโดยรวมก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก (สังเกตดูก็ได้ว่า recommended power สำหรับลำโพงแบบนี้มักจะให้ไว้กว้างมาก ประมาณว่าตั้งแต่ 20-300 วัตต์อะไรแบบนี้) อย่าง SS2 คู่นี้ ผมว่า มันทำให้ความเชื่อเก่าๆ ในยุคโน้นมีความเป็นจริงมากขึ้น คือใช้แค่อินฯ ที่มีราคาต่ำกว่ามันตั้งครึ่งอย่าง Gamut Di150 ตัวนี้ หรือ Devialet 240 ก็สามารถเสพย์สมกับคุณภาพเสียงและความเป็นดนตรีจากลำโพงคู่นี้ได้อย่างอิ่มเอมแล้ว..
ถ้าจะมีการจัดอันดับลำโพงไฮเอ็นด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดขึ้นมา ผมคิดว่าต้องมีชื่อของ Wilson Audio ติดเข้ามาในอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน เพราะเอาแค่รุ่น WATT/puppy รุ่นเดียวก็สร้างประวัติศาตร์ให้กับวิลสันได้เป็นเล่มๆ แล้ว และต้องยอมรับว่า เพราะ WATT/puppy นี่แหละที่ทำให้ชื่อของ Wilson Audio ผงาดขึ้นมาอยู่ในทำเนียบของผู้ผลิตลำโพงไฮเอ็นด์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในปัจจุบัน
…………………………………..
ที่มา :  http://gm2000magazine.com/th/review-detail.php?did=210
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย : บริษัท Deco2000 Co., LTD.
Telephone : +66 2256 9700
Mobile : +669 0678 7086
Fax : +66 2252 0700

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *