Devialet 220 Pro
Stereo Integrated Amplifier/DAC
ใช้เวลาไม่นาน หลังจากที่ Devialet (เดอวิอาเล)
เห็นตัวเครื่องแบนๆ บางๆ แบบนี้ ดูแคลนไม่ได้นะครับ มันให้กำลังขับแชนเนลละ 220W เนื้อๆ แถมมีฟังท์ชั่นเด็ดๆ อัดแน่นอยู่ด้านในอีกเพียบ.!
เปิดตัวออกสู่สาธารณะชน แบรนด์นี้ก็ได้ถูกยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะอาศัยหลักการออกแบบที่สอดคล้องกับเหตุปัจจัยที่วงการเครื่องเสียงยอมรับ นั่นคือใช้วงจรขยาย Class A เข้ามาจัดการกับสัญญาณต้นทาง ซึ่งนักนิยมเครื่องเสียงทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ต่างก็ยอมรับในประสิทธิภาพของวงจรขยายแบบนี้ ส่วนภาคกำลังขับ (เพาเวอร์แอมป์) ที่เป็นคุณสมบัติสำคัญในการต่อกรกับลำโพงก็ถูกวงจรขยาย Digital Class D เข้ามารับหน้าที่นี้ไป กอปรจนสำเร็จออกมาเป็นวงจรขยาย ADH (Analog/Digital Hybrid) สิทธิบัตรของ Devialet
รีโมทไร้สายสุดเท่ห์ ใช้คลื่นวิทยุในการควบคุมคำสั่ง จึงไม่จำเป็นต้องหันไปทางตัวเครื่องทุกครั้งที่ต้องการควบคุมสั่งงาน
แม้ว่า นักนิยมเครื่องเสียงยุคเก่า (มากๆ) อาจจะยังติดใจกับคำว่า “Digital Class D” อยู่บ้าง แต่เชื่อว่าถ้าได้ฟังเสียงของแอมป์ตัวนี้แล้ว ความคิดคุณจะถูกเปลี่ยน ส่วนนักเล่นฯ สายบุ๋นที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับวงจรอิเล็กทรอนิคค่อนข้างดี ต่างก็ยอมรับในความเป็นไปได้ของเทคนิคนี้ตั้งแต่ยังไม่ได้ยินเสียงของมัน เพราะพวกเขาตะหนักดีว่า ถ้าต้องการ “กำลังขับที่มากมาย” + “สปีดการสั่งจ่ายกำลังที่รวดเร็ว” ซึ่งเป็นอุดมคติของเพาเวอร์แอมป์ ก็คงจะไม่มีวงจรขยายกำลังแบบอะนาลอกรูปแบบไหนที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ดีอย่างครบถ้วนเท่ากับวงจรขยายแบบดิจิตัลอีกแล้ว ปัญหามันเหลืออยู่แค่ว่า จะเอาวงจรขยายดิจิตัลมาใช้งานแบบไหน ถึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่มีผลข้างเคียงเท่านั้นเอง
ปุ่มปรับควบคุมสั่งงานบนรีโมทฯ (1) ใช้หมุนปรับระดับความดัง (2) ปุ่มกดเลือกแหล่งอินพุต (3) ปุ่มกด mute หยุดเสียง (4) ปุ่มกดเข้าโหมดปรับโทนเสียง (5) ปุ่ม power เปิด/ปิดเครื่อง
ขั้วต่อทั้งหมดอยู่ที่แผงหลัง ซึ่งโดยปกติจะมีแผ่นโลหะปิดคลุมไว้ ซึ่งสามารถเลื่อนออกได้เพื่อให้เชื่อมต่อสายได้ง่ายขึ้น
สมรรถนะ
Power: 2×220 WRMS 6Ω
Signal-to-Noise ratio: 130dB
THD -130W/6Ω : 0,0005% / -106dB
THD -10W/6Ω : 0,00025% / -112dB
Output impedance: 0,001Ω
Damping factor: 8000
Bandwidth: DC-30kHz (-0.1dB), DC-95kHz (-3dB)
Phase: 0.4° at 20kHz, 1.8° at 40kHz
Thermal distortion: Below measurement threshold
ก่อนอื่น มาดูสมรรถนะกับฟีเจอร์ต่างๆ กันก่อน..
(1) ช่องอินพุต Ethernet (2) ช่องอินพุต USB (3) ช่องเสียบ SD card เพื่อโหลดโปรไฟล์
ผมเคยทดสอบอินติเกรตแอมป์ Devialet รุ่น 170 ไปครั้งหนึ่งในฉบับที่ 203 (กุมภาพันธ์ 2014) ผ่านมาสามปีนิดๆ ผมก็มีโอกาสได้ทดสอบรุ่น 220 Pro อีกครั้ง
(1) ช่องอินพุต optical (2) ที่ยึดสายกราวนด์ของเครื่องเล่นแผ่นเสียง (3) ช่องอินพุตที่สามารถเลือกได้ระหว่าง Line หรือ Phono (4) ช่องอินพุตที่ปรับเลือกได้ระหว่าง digital กับ analog (5) จุดรับสัญญาณ Wi-Fi (6) ช่องซ้ายเลือกให้เป็นอินพุตดิจิตัล coaxial ก็ได้ หรือจะเลือกให้เป็นช่อง sub-out ก็ได้ ส่วนช่องขวา เลือกให้เป็นช่องอินพุตดิจิตัล coaxial ก็ได้ หรือจะเลือกให้เป็นช่อง digital out ก็ได้ (7) ช่องอินพุตดิจิตัล AES/EBU
(1) ขั้วต่อสายลำโพงแชนเนลขวา (2) ขั้วต่อสายลำโพงแชนเนลซ้าย (3) ช่องส่ง/รับสัญญาณ trigger (4) ปรับเลือกให้เป็นช่องอินพุต Optical ก็ได้ หรือจะให้เป็นช่องรับสัญญาณรีโมท RS-232 ก็ได้ (5) ปลั๊กเสียบสายไฟเอซีแบบสามขาแยกกราวนด์
ลิ้งค์ทดสอบ Devialet รุ่น 170
http://www.gm2000magazine.com/th/review-detail.php?did=485
เท่าที่สังเกตดูแนวทางของเจนเนอเรชั่นใหม่นี้ ผมเห็นพัฒนาการอยู่ 2 จุด จุดแรกคือหันมาให้ความสำคัญทางด้าน “กำลังขับ” มากขึ้น โดยปรับให้แต่ละรุ่นมีกำลังขับที่สูงขึ้นกว่าเจนเนอเรชั่นก่อนหน้านี้ ซึ่งสังเกตได้ง่ายจากโค๊ดรุ่น อย่างรุ่น 220 Pro ตัวนี้ให้กำลังขับอยู่ที่ 220W ต่อแชนเนลที่ 6 โอห์ม ซึ่งสูงกว่ารุ่น 170 ที่ผมเคยทดสอบไป นี่คือมรรคผลส่วนหนึ่งที่ได้จากเทคโนโลยี ADH กับภาคเพาเวอร์ซัพพลายที่พัฒนาปรับปรุงขึ้นมาใหม่
ถ้าพิจารณาจากสเปคฯ ข้างบนนี้ ผมพบว่ามีคุณสมบัติอยู่ 3 ตัว (ทำสีแดงไว้) ที่น่าสนใจสำหรับอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ ซึ่งคุณสมบัติทั้งสามตัวนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน ตัวแรกที่อยากจะแนะนำให้พิจารณาก็คือ “Bandwidth” หรือความสามารถในการตอบสนองความถี่เสียง ซึ่งผู้ผลิตแสดงไว้ 2 ค่า สังเกตดูว่า ทั้งสองค่าที่แจ้งไว้นั้นเริ่มต้นที่ DC หรือ 0Hz เหมือนกัน นี่แสดงให้เห็นถึง “ความสะอาด” ของแบ็คกราวนด์ที่เครื่องตัวนี้ให้ออกมา และเมื่อมาดูคุณสมบัติตัวที่สองคือ “Signal-to-Noise Ratio” ซึ่งแสดงอัตราส่วนของสัญญาณเสียงเทียบกับสัญญาณรบกวน ยิ่งสูงยิ่งดี ซึ่งตัวเลข 130dBถือว่าค่อนข้างสูง แสดงให้เห็นว่า แอมป์ตัวนี้ให้สัญญาณเสียงที่มีความแรงสูงในขณะที่สัญญาณรบกวนต่ำ
ส่วนคุณสมบัติทางด้าน Damping factor ก็ทำได้สูงมาก มากกว่าแอมป์ทั่วไปเยอะ ซึ่งแอมป์อะนาลอกส่วนใหญ่ทำได้แค่ไม่กี่ร้อยเท่านั้น คุณสมบัติตัวนี้แสดงให้เห็นว่า แอมป์ตัวนี้มีความสามารถในการหยุดยั้งการขยับเคลื่อนของไดอะแฟรมได้ดีเยี่ยม
เทคโนโลยี + ทดลองฟังเสียง
– New ADH Intelligence® (New Class A Amplifier + New Class D Amplifier + New Power Supply + New Thermal Management)
- New DAC Magic Wire®
- SAM (Speaker Active Matching)
– AIR (Asynchronous Intelligent Route)
– RAM (Record Active Matching)
หน้าจอเล็กๆ บนตัวเครื่องที่แสดงรายละเอียดของอินพุตที่เลือกใช้ และแสดงระดับความดังของเสียง
สินค้าของแบรนด์ Devialet ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Phantom กับ Expert Pro โดยที่ Phantom นั้นเป็นเครื่องเสียงแบบรวมชิ้นสมัยใหม่ ที่เน้นการเชื่อมต่อสัญญาณแบบไร้สาย มีดีไซน์ที่เลิศหรูเตะตา ฟังท์ชั่นใช้งานหลากหลาย ตัวเดียวฟังเพลงได้เลย หรือจะใช้มากกว่าหนึ่งตัวก็สามารถกำหนดตั้งให้มันทำงานในโหมดสเตริโอ หรือมัลติแชนเนลได้ หรือจะกำหนดให้มันทำงานเชื่อมโยงกันหลายๆ จุดภายในบ้านแบบมัลติโซน-มัลติรูมก็สามารถทำได้เช่นกัน
ส่วนสินค้าในกลุ่ม Expert Pro นั้นเป็นอินติเกรตแอมป์ยุคใหม่ที่ต้องใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ต้นทางสัญญาณ (source) และลำโพงแบบเดียวกับอินติเกรตแอมป์ยุคเก่า แต่มีความพิเศษตรงที่รวมเอาอินพุตทุกชนิดไว้ในตัว ทั้งที่ส่งเข้ามาทางสายสัญญาณและทางระบบเชื่อมต่อแบบไร้สาย รองรับได้ทั้งสัญญาณอะนาลอกและดิจิตัล ครบทุกรูปแบบ
รูปร่างภายนอกของ Devialet เจนเนอเรชั่นใหม่นี้ไม่มีอะไรต่างไปจากเจนเนอเรชั่นก่อนหน้า ยังคงมาในรูปทรงตัวถังที่แบนบางแต่เนื้องานเนี๊ยบเฉียบเช่นเดิม สิ่งที่ต่างกันปรากฏอยู่ใต้ตัวถังที่ดูเรียบหรูนั่นเอง อย่างรู้ว่ามีอะไรใหม่บ้างก็เปิดฝาดูเลย.. โน! อย่าเสียเวลาทำอะไรอย่างนั้นเลย เพราะถึงคุณจะสามารถเปิดฝาได้ แต่คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าแต่ละส่วนในนั้น ตรงไหนทำหน้าที่อะไร.? เพราะเนื้อในของ 220 Pro ไม่ได้ใช้ดีไซน์แบบ discrete ที่ไล่วงจรกันได้ง่ายๆ เหมือนแอมปลิฟายอะนาลอกยุคเก่า ความสามารถเกือบทั้งหมดของ 220 Pro ตัวนี้ถูกผนึกอยู่ในโปรเซสเซอร์ชิปทั้งเล็ก-ใหญ่จำนวน 7 ตัวที่ฝังติดอยู่บนแผงวงจร หลักๆ คือชิป DSP ของ SHARC ที่มีสปีดการคำนวนสูงถึงระดับ 400MHz จำนวน 3 ตัว ทำหน้าที่ประมวลผลการทำงานของฟังท์ชั่นพิเศษต่างๆ ฉนั้น วิธีง่ายที่สุดที่พอจะแกะรอยเทคโนโลยีต่างๆ ที่บรรจุอยู่ใน 220 Pro ตัวนี้ก็คือสืบสาวเอาจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของผู้ผลิตนั่นเอง
New ADH Intelligence®
ผังการทำงานของวงจรขยาย ADH แบบใหม่
ADH มาจาก Analog/Digital Hybrid คือวงจรขยายที่ผนวกเอาการทำงานด้วยวงจรขยาย Class A กับวงจรขยาย class D เข้าด้วยกัน ซึ่งคิดค้นและจดสิทธิบัตรโดย Devialet ไว้ตั้งแต่ปี 2010 และได้ถูกพัฒนาจนได้ออกมาเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดและนำมาใช้ในเจนเนอเรชั่น “Expert Pro” นี้ ซึ่งส่วนที่ได้รับการปรับปรุงในครั้งนี้ก็คือส่วนที่เป็นภาคขยายทั้งหมดที่เชื่อมต่อไปสู่ลำโพง (ล้อมกรอบ) ประกอบด้วยวงจรขยาย Class A ที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณอินพุตในรูปของโวลเตจ (หรือแรงดัน) กับวงจรขยาย Class D ที่ทำหน้าที่เริมกระแสที่ส่งไปผสานเข้ากับแรงดันเพื่อให้เกิดเป็นพลังขับดันลำโพงที่เอ๊าต์พุต และมีอีกส่วนสำคัญที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ นั่นคือ Control Algorithm ซึ่งทำหน้าที่ตรวจจับและคำนวนสัญญาณ (แรงดัน) จากภาคขยาย Class A แล้วส่งค่าให้กับภาคขยาย Class D เพื่อใช้ในการจัดส่งกระแสเข้าไปเสริมได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มีผลให้การส่งประสานระหว่าง “แรงดัน” จากภาคขยาย Class A กับ “กระแส” จากภาคขยาย Class D มีความเข้ากันได้มากที่สุด ทั้งในส่วนของ “timing” และ “value” จึงทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเวอร์ชั่นเก่า โดยเฉพาะภาคเพาเวอร์ซัพพลายที่ได้รับการปรับปรุงในส่วนของวงจรจัดการอุณหภูมิที่ดีขึ้น จึงเป็นกำลังเสริมที่ย้อนกลับมาช่วยส่งให้ภาคขยายของ 220 Pro มีทั้งสมรรถนะและประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยปริยาย
New DAC Magic Wire®
ลักษณะเส้นทางวงจรของ DAC Magic Wire
ข้อด้อยของภาค DAC ที่แยกตัวออกมาจากภาคแอมปลิฟายอยู่ที่ “จุดเชื่อมต่อ” ระหว่าง output ของ DAC กับ input ของแอมป์ฯ ซึ่งนอกจากความไม่แม็ทชิ่งกันระหว่าง output impedance ของ DAC กับ input impedance ของแอมป์ฯ แล้ว คุณสมบัติทางด้าน R-C-L ของสายสัญญาณที่ใช้เชื่อมต่อระหว่าง DAC กับแอมป์ฯ ก็ยังมีผลให้สัญญาณเสียงดนตรีที่ออกมาจากชิป DAC ถูกทำให้แปดเปื้อนและบิดเบือนไปจากต้นฉบับที่ควรจะเป็นอีกด้วย
นั่นคือ scenario ของปัญหาที่วิศวกรของ Devialet คำนึงถึง และ DAC Magic Wire นี้คือประดิษฐกรรมที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมารับมือกับปัญหานั้น.!
นอกเหนือจากการใช้ชิป DAC ที่มีประสิทธิภาพสูงแล้ว แผงวงจรหลักของภาค DAC ที่ผนึกอยู่ในตัว 220 Pro นี้ยังถูกออกแบบให้ output ของ DAC กับ input ของแอมป์ฯ มีระยะห่างกันแค่ 5 ซ.ม. เท่านั้น.! และเพื่อให้สัญญาณอะนาลอกจากเอ๊าต์พุตของ DAC มีความบริสุทธิ์อย่างถึงที่สุดก่อนจะพุ่งเข้าไปที่ภาคขยาย ADH พวกเขายังออกแบบเส้นทางเดินของสัญญาณอะนาลอกที่ไร้ซึ่งคอมโพเน้นต์ประเภทแคปาซิเตอร์มาขวางทางสัญญาณ ส่งผลให้สัญญาณดนตรีที่ผ่านการขยายด้วยภาคขยาย ADH ถูกส่งไปที่ลำโพงด้วยความเที่ยงตรงและมีความบริสุทธิ์ใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุด มีความสูญเสียและบิดเบือนน้อยที่สุด และเหนืออื่นใด เพื่อรักษาเกนสัญญาณอะนาลอกต้นฉบับที่ออกมาจาก DAC เอาไว้ให้เหมือนต้นฉบับมากที่สุด สัญญาณอะนาลอกจากเอ๊าต์พุตของ DAC จะถูกไบอัสด้วยโวลเตจสวิงที่กว้างถึง +/-80V ด้วยเหตุนี้ สัญญาณอะนาลอกก่อนจะเข้าสู่การทำงานของ ADH จึงมีไดนามิกเร้นจ์ที่กว้างขวางและมีเกนสัญญาณที่แรงพอ
SAM (Speaker Active Matching)
ลักษณะเส้นทางวงจรของ DAC Magic Wire
นี่คือเทคโนโลยีสุดล้ำที่สะท้อนอัจฉริยะภาพของทีมออกแบบ Devialet อย่างชัดเจน มันคือผลจากการบรรจงปั้นนามธรรมในอุดมคติให้ออกมาเป็นตัวตนที่จับต้องได้.!
มันคืออะไร.? มันคือเทคโนโลยีที่ทำให้แอมปลิฟายสามารถ “ชดเชย” ความเบี่ยงเบนของลำโพงลงไปในสัญญาณเอ๊าต์พุตก่อนที่จะส่งไปให้ลำโพงคู่นั้นได้ ฟังดูน่าฉงนใช่มั้ยครับ.? เนื่องจากลำโพงเป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ทำงานด้วยพื้นฐานของกลไกที่มีความเบี่ยงเบนตามธรรมชาติ ผลผลิตสุดท้ายมักจะได้ออกมาไม่ตรงกับพิมพ์เขียวและปรับจูนแก้ไขได้ยาก นั่นคือเหตุผลที่สามารถพูดได้ว่า “ไม่มี” ลำโพงคู่ไหนที่สามารถตอบสนองสัญญาณจากแอมปลิฟายได้อย่างเที่ยงตรงสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นคือเสียงที่ได้ออกมาจากลำโพงมักจะดร๊อปลงไปกว่าสัญญาณเสียงจริงที่ได้รับมาจากแอมป์ฯ ด้วยเหตุนี้ วิศวกรของ Devialet จึงมองว่า ความพยายามออกแบบที่จะทำให้ภาค DAC กับภาคเพาเวอร์แอมป์ทำงานร่วมกันให้ได้สัญญาณเอ๊าต์พุตออกมาตรงกับสัญญาณต้นฉบับมากที่สุดจะกลายเป็นความสูญเปล่าอย่างแน่นอน ถ้าไม่สามารถ “ขจัด” ความเบี่ยงเบนในการทำงานของลำโพงออกไปจากระบบได้
ในทางปฏิบัตินั้น ทาง Devialet ได้จัดส่งวิศวกรของพวกเขากับเครื่องมือตรวจวัดพร้อมสัญญาณอ้างอิง เดินทางออกไปทำการ “วัด” คุณสมบัติของลำโพง “แต่ละยี่ห้อ” ที่มีอยู่ในท้องตลาด เพื่อให้รู้ถึงความเบี่ยงเบนของลำโพงเหล่านั้น แล้วเก็บค่าที่วัดได้กลับมาที่บริษัท (ผมเคยเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ตอนวิศวกรของ Devialet เข้ามาทำการตรวจวัดที่บริษัท Deco2000 ซึ่งเป็นผู้นำเข้า Devialet ในเมืองไทยด้วย) นำมาบรรจุเป็นข้อมูล (data) อินพุตให้โปรแกรม SAM ใช้ในการคำนวนชดเชยสำหรับลำโพงรุ่นนั้นๆ ซึ่งค่าที่โปรแกรม SAM ชดเชยให้กับลำโพงรุ่นนั้นๆ จะถูก compensate ผ่าน volume control ไปที่สัญญาณอินพุตก่อนเข้าภาค DAC โดยมุ่งประเด็นไปที่ความถี่ต่ำเป็นหลัก ด้วยการจัดการให้ลำโพงคู่นั้นสามารถตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้ลึกที่สุดเท่าที่ตัวลำโพงจะสามารถทำได้ โดยไม่ละเว้นที่จะรักษาคุณสมบัติในส่วนของ speed และ phase ของความถี่ต่ำนั้นให้ออกมาเท่าทันและกลมกลืนไปกับความถี่อื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย นอกจากนั้น ซอฟท์แวร์ที่วิศวกรของ Devialet ใช้ในการวัดการทำงานของลำโพงแต่ละรุ่นนั้นยังได้เก็บเอาพฤติกรรมในขณะที่วูฟเฟอร์กำลังขยับตัวมาด้วย ซึ่งข้อมูลนั้นจะถูกนำมาคำนวนและเขียนออกมาเป็นโปรแกรมที่ช่วยควบคุมการขยับตัวของไดอะแฟรมของตัววูฟเฟอร์ไม่ให้เกินขีดความสามารถทางกลไกของตัวมันเอง ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่เปิดฟังดังๆ นั่นเอง
นับจนถึงขณะนี้ จำนวนลำโพงที่ทีมวิศวกรของ Devialet ออกไปทำการตรวจวัดค่ามาเก็บไว้มีอยู่มากถึง 726 รุ่นแล้ว.! (ผมนับถึงวันที่ 30 มีนาคม 2017) ใครที่อยากรู้ว่า ลำโพงที่คุณใช้อยู่ในลิสต์ SAM รึป่าว เช็คได้จากลิ้งค์ข้างล่างนี้..
https://en.devialet.com/sam-ready-speakers/list
ผมลองเข้าไปไล่เช็ครายชื่อดู พบว่ามีลำโพงอยู่ 4 คู่ในนั้นเป็นรุ่นที่ผมมีอยู่ใกล้ตัวขณะนี้ นั่นคือ Vienna Acoustics รุ่น Mozart Grand SE, Totem Acoustics รุ่น Element Series ‘Ember’, ATC รุ่น SCM 7 และลำโพงตั้งพื้นยี่ห้อ Bowers&Wilkins รุ่น 684 S2 ที่เพิ่งจะได้รับเข้ามารอทดสอบอยู่ที่อ๊อฟฟิศด้วย นอกจากนั้น ผมพบว่า ลำโพงที่ถูกวัดค่าโดย SAM แทบจะครอบคลุมครบทุกรุ่นของลำโพงยอดนิยมในวงการแล้ว และไม่ใช่เฉพาะลำโพงรุ่นใหม่ๆ นะครับ บางรุ่นนั้นออกมานานนับสิบปีก็มี อย่างเช่นลำโพงยี่ห้อ ProAc รุ่น Response 4 ที่ออกมาครั้งแรกตั้งแต่ช่วงกลางปี 1993 (24 ปีที่แล้ว!) ยังมีเลย..
ผมยอมรับว่า ฟังท์ชั่น SAM ของแอมป์ฯ ตัวนี้เป็นอะไรที่ดึงดูดความสนใจของผมมากเป็นพิเศษ เพราะอ่านจากแนวคิดการออกแบบฟังท์ชั่นนี้แล้วมันทำให้ผมอยากรู้ว่า ถ้าเลือกใช้ฟังท์ชั่นนี้กับลำโพงที่อยู่ในรายชื่อที่พวกเขาตรวจวัดไว้ มันจะส่งผลกับเสียงของลำโพงคู่นั้นอย่างไรบ้าง.?
ในการทดสอบ 220 Pro ครั้งนี้ผมจึงเจาะจงใช้ลำโพงทั้ง 4 คู่นี้เป็นตัวอ้างอิง และใช้ทดสอบประสิทธิภาพของฟังท์ชั่น SAM ไปด้วย ผมเริ่มต้นด้วยการเซ็ตอัพตำแหน่งของลำโพงแต่ละคู่ไว้ในห้องทดสอบโดยสรุปผลจากการฟังจนได้ตำแหน่งที่ให้เสียงลงตัวจนเป็นที่พอใจมากที่สุดก่อน (แน่นอนว่าผมทดลองฟัง “ทีละคู่” ไม่ได้เอาลำโพงทั้งหมดเข้ามาเซ็ตอัพไว้ในห้องพร้อมกัน) หลังจากนั้น ผมก็เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับอินเตอร์เน็ทเพื่อเข้าไปปรับเลือกใช้ฟังท์ชั่น SAM จากหน้าเพจ Configuration ของ Devialet แล้ว download การปรับตั้งนั้นลงบน SD card จากนั้นก็นำ SD card ตัวนั้นมาเสียบเข้าที่ช่องเสียบ SD card ของตัว 220 Pro เมื่อกดปุ่ม power เปิดตัว 220 Pro ขึ้นมา โปรไฟล์ใหม่ที่เพิ่งถูกปรับตั้งลงไปบน SD card จะถูกโหลดเข้าไปในตัวเครื่อง หลังขั้นตอนนี้ หากสังเกตบนจอกลมเล็กๆ ที่อยู่บนตัวเครื่อง คุณจะเห็นว่ามีโลโก้สัญลักษณ์ SAM ปรากฏขึ้นมา ซึ่งหากคุณไม่ได้เลือกใช้ หรือกลับเข้าไปยกเลิกการใช้ฟังท์ชั่น SAM หลังจากโหลดโปรไฟล์ใหม่เข้าไป สัญลักษณ์ SAM บนหน้าจอนี้ก็จะหายไป
ผลการฟังเปรียบเทียบระหว่าง “ใช้ SAM” กับ “ไม่ใช้ SAM”
เพื่อให้การทดสอบฟังผลของฟังท์ชั่น SAM สามารถทำได้ง่ายที่สุด ผมจึงใช้วิธีสร้างโปรไฟล์ขึ้นมา 2 ชุด แล้ว save โปรไฟล์แต่ละชุดลงบน SD card แยกกันสองตัวต่อลำโพงหนึ่งคู่ โดยโปรไฟล์ทั้งสองชุดนี้มีความแตกต่างกันแค่ “เลือกใช้” กับ “ไม่ใช้” ฟังท์ชั่น SAM สำหรับลำโพงแต่ละคู่เท่านั้น อื่นๆ ที่เหลือเหมือนกันทุกอย่าง วิธีนี้จะทำให้การเปลี่ยนโปรไฟล์ของ 220 Pro สามารถทำได้ง่าย และใช้เวลาไม่เยอะ
จากนั้นผมก็ใช้โปรแกรม roon บน Mac mini เล่นไฟล์เพลงฟอร์แม็ต FLAC, WAV และ DSF แล้วส่งสัญญาณเสียง PCM และ DSD ผ่านเข้าที่ 220 Pro ทางช่องอินพุต USB ซึ่งเรโซลูชั่นของไฟล์เพลงที่เล่นก็มีทั้งระดับ CD quality และไฮเรซฯ ทุกระดับชั้น
นี่คือการเปรียบเทียบเสียงทุ้มที่ได้ระหว่างการใช้/ไม่ใช้ ฟังท์ชั่น SAMของลำโพง ATC รุ่น SCM 7
ก่อนจะเริ่มทดลองฟังเปรียบเทียบ ผมไม่ได้หวังว่าผลลัพธ์จะออกมาในแง่ดีมากนัก คิดว่าลักษณะเสียงหลังใช้ฟังท์ชั่น SAM น่าจะออกมาในลักษณะได้อย่าง-เสียอย่างซะมากกว่า เนื่องจากหลักการชดเชยของฟังท์ชั่น SAM นี้จะเน้นที่ SPL หรือความดังของเสียงโดยอาศัยปรับเพิ่ม/ลดผ่านวอลลุ่มคอนโทรล ซึ่งผมเดาเอาว่า ก็คงจะคล้ายๆ กับการใช้ equalizer นั่นเอง แต่เอาเข้าจริงแล้ว ต้องยอมรับว่า ผมถึงกับขนลุกหลังจากได้ยินเสียงของลำโพงแต่ละคู่เมื่อเปิดใช้ฟังท์ชั่น SAM ที่ 220 Pro ไม่น่าเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเด่นชัดมากขนาดนั้น.!
ไม่ว่าจะเป็นลำโพงคู่ใดในจำนวน 4 คู่ที่ผมทดลองฟังกับ 220 Pro ตัวนี้ เสียงที่ได้ยินมันดีขึ้นอย่างมากในหลายๆ ด้านหลังจากเปิดใช้ฟังท์ชั่น SAM ของลำโพงคู่นั้นๆ ตั้งแต่วินาทีแรกหลังจากเปิดใช้ SAM ผมแทบจะไม่ต้องใช้ความพยายามในการฟังวิเคราะห์ใดๆ เลย เพราะความแตกต่างของเสียงที่เกิดขึ้นมันคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ผมคะเนให้มากเกิน 30% เลยทีเดียว สิ่งแรกที่รับรู้ได้ชัดมากคือความรู้สึกของ “พลังแฝง” ที่แต่ละเสียงในเพลงที่ฟังมันเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อคุณสมบัติทางด้านไดนามิกของเสียงที่ทำให้สามารถรับรูัอากัปกิริยาย้ำหนัก-ผ่อนเบาของเสียงได้ชัดขึ้น เทียบกับตอนไม่ได้ใช้ฟังท์ชั่น SAM จะรู้สึกได้เลยว่าเสียงโดยรวมมีลักษณะอ่อนระโหยโรยแรงลงไปอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่ผมใช้ระดับวอลลุ่มเท่ากันแท้ๆ
เมื่อเปิดใช้ฟังท์ชั่น SAM แล้ว หลังจากโหลดโปรไฟล์เข้าไปในตัวเครื่องแล้ว จะปรากฏโลโก้ SAM ขึ้นมาแสดงบนจอด้วย
พอไดนามิกดีขึ้น มันทำให้การ “เน้นหนัก-ผ่อนเบา” ของแต่ละตัวโน๊ตของเสียงดนตรีแต่ละชิ้นในเพลงนั้นสามารถ “สวิง” ได้กว้างขึ้น ส่งผลให้ฟังจับ “จังหวะดนตรี” ได้ชัดขึ้น และทำให้เสียงโดยรวมมี “น้ำหนัก” มากขึ้น มีความเป็น “ตัวตน” มากขึ้น มีความ “เข้มข้น” ของมวลเนื้อเสียงมากขึ้น ไม่อ่อนจางเป็นวิญญาณเหมือนตอนที่ไม่ได้เปิดใช้ฟังท์ชั่น SAM ดังนั้น แม้จะในช่วงจังหวะที่เสียงดนตรีขยับเคลื่อนอย่างแผ่วเบา ความเป็นตัวตนของเสียงนั้นก็ยังคงเด่นชัดไม่ต่างไปจากตอนที่มันเน้นย้ำอย่างรุนแรง เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผมอยากจะแนะนำให้คุณเหลือบขึ้นไปพิจารณาภาพปกอัลบั้ม The Virtuoso Liszt ข้างบนอีกครั้ง จะเห็นว่าภาพขวามือมีความเข้มข้นสูงกว่า ใสกว่า สดและมีพลังมากกว่า คอนทราสน์กว้างกว่า ดีกว่าภาพซ้ายมือทุกกรณี ซึ่งผลของเสียงที่ได้จากลำโพงแต่ละคู่หลังจากเปิดใช้ฟังท์ชั่น SAM ก็ออกมาในลักษณะเดียวกันนี้
ก่อนเปิดใช้ฟังท์ชั่น SAM ผมก็รู้สึกว่าเสียงที่ได้มันออกมาดีมากแล้ว น่าพอใจมากแล้ว แต่พอเปิดใช้งานฟังท์ชั่น SAM เท่านั้น ความกระจ่างก็บังเกิดขึ้นทันที เพราะไม่แค่พลังเสียงจะดีขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าไม่เปิดใช้ฟังท์ชั่น SAM ผมจะไม่มีวันรู้เลยว่าอะไรในเพลงขาดหายไปบ้างจากลำโพงของผม.! ซึ่งประเด็นนี้ผมได้ทดลองฟังซ้ำกลับไปกลับมาระหว่างใช้และไม่ใช้ฟังท์ชั่น SAM หลายครั้ง จนกล้าสรุปว่า หลังใช้ฟังท์ชั่น SAM แล้ว ผมได้ยินรายละเอียดของเสียงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรายละเอียดที่ระดับความดังต่ำๆ ซึ่งเคยจมหายไปกับแบ็คกราวนด์ก็ผุดลอยขึ้นมาให้ได้ยิน ยิ่งเป็นเพลงคลาสสิกจะยิ่งรับรู้ได้ถึงรายละเอียดของเสียงที่ระดับ Low Level มากขึ้นไปอีก ประเด็นที่ผมประทับใจมากๆ หลังใช้ SAM คือมันให้ “น้ำหนัก”, “จังหวะ” และ “บรรยากาศ” ที่ห้อมล้อมอยู่รอบๆ บริเวณซาวนด์สเตจที่ดีขึ้น นี่คงเป็นผลมาจากความสามารถในการถ่ายทอดความถี่ต่ำที่ดีขึ้นของลำโพงหลังใช้ฟังท์ชั่น SAM นั่นเอง ซึ่งในเว็บไซต์ของ Devialet เขาประชาสัมพันธ์เอาไว้ด้วยในกรณีนี้ ยกตัวอย่างเช่นลำโพง ATC รุ่น SCM7 นั้น ทาง Devialet ระบุแจ้งไว้ว่า ถ้าไม่ใช้ SAM ลำโพงรุ่นนี้จะตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้แค่ 43Hz เท่านั้น แต่หลังจากเปิดใช้ฟังท์ชั่น SAM จะลงได้ลึกมากขึ้น คือลงไปได้ถึง 24Hz หรืออย่างลำโพง Totem Acoustics รุ่น Element ‘Ember’ ที่แจ้งไว้ในสเปคฯ ว่าลงได้ลึกแค่ 46Hz นั้น พอเปิดใช้ฟังท์ชั่น SAM บน 220 Pro เสียงทุ้มมันลงไปได้ลึกมากขึ้น คือถึงระดับ 23Hz นั่นเลย..! ยังกะเพิ่มซับวูฟเฟอร์..!!
สรุปแล้ว ฟังท์ชั่น SAM ไม่ได้เข้าไปยุ่งกับความถี่ในย่านกลาง-แหลมของลำโพงเหล่านี้ หากแต่เข้าไปจัดการกับความถี่ในย่านทุ้มโดยดึงเร้นจ์ของ frequency response ของระบบ (วงจร crossover network + drive unit) ให้กว้างขึ้น ด้วยวิธียืดขยายการตอบสนองความถี่ทางด้านต่ำของลำโพงลงไปอีก ภายใต้รูปแบบวงจรครอสโอเว่อร์เดิมของลำโพงนั้น จึงทำให้โทนเสียงของลำโพงนั้นยังคงมีบุคลิกเดิม แต่เมื่อความถี่ในย่านต่ำถูกยืดขยายไล่ลงไปลึกกว่าเดิม ความถี่ในย่านที่สูงกว่า (ย่านกลางขึ้นไปถึงสูง) ที่ลำโพงคู่นั้นต้องรับภาระในการถ่ายทอดออกมาจึงถูกคลี่คลายออกมามากขึ้นกว่าเดิม และนั่นคงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมได้ยินรายละเอียดเสียงแผ่ขยายออกมามากขึ้นเมื่อเปิดใช้ฟังท์ชั่น SAM กับลำโพงทั้งสี่คู่นี้
https://en.devialet.com/sam-ready-speakers/page/atc/atc-scm-7
AIR (Asynchronous Intelligent Route)
จุดเด่นอีกจุดหนึ่งของ 220 Pro คือ “อินพุต” แม้ว่าตัวเครื่องจะแบนบางและมีขั้วต่อมาให้แค่ไม่กี่ชุด แต่ก็สามารถรองรับแหล่งต้นทางสัญญาณได้ครบทุกรูปแบบ นั่นเพราะว่าทางผู้ผลิตได้นำเอาเทคนิค Software-based overwriting เข้ามาใช้ทำให้ขั้วต่อสัญญาณแต่ละชุดสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้หลายลักษณะ โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปปรับตั้งผ่านโปรแกรม configurator เพื่อให้ขั้วต่อแต่ละชุดทำหน้าที่ “รองรับอินพุต” หรือ “ส่งออกเอ๊าต์พุต” ตามที่ต้องการ
220 Pro ตัวนี้มีช่องอินพุตที่สามารถปรับตั้งให้รองรับสัญญาณ analog ได้พร้อมกัน 2 ชุด โดยที่ชุดหนึ่งสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะให้เป็นช่องอินพุตสำหรับภาคไลน์ หรือจะให้เป็นช่องอินพุต Phono สำหรับรองรับสัญญาณที่มีความแรงต่ำๆ จากหัวเข็ม ส่วนอินพุตสำหรับสัญญาณ digital นั้นมีมาให้ครบทุกรูปแบบ ตั้งแต่ optical, coaxial, AES/EBU, USB และ Ethernet
ลิ้งค์เปลี่ยนและปรับตั้งอินพุต
https://en.devialet.com/configurator/welcome/
ก่อนทดสอบผมนั่งอ่านข้อมูลของแอมป์ตัวนี้มา ไปสะดุดตากับเทคโนโลยีหนึ่งที่มีใช้อยู่ในแอมป์ตัวนี้ พวกเขาตั้งชื่อเรียกมันว่า AIR ทีแรกผมเข้าผิดคิดว่าหมายถึงการรับสัญญาณอินพุตแบบไร้สาย อย่างพวก AirPlay ของแอ๊ปเปิ้ล แต่ปรากฏว่าถูกแค่บางส่วนเท่านั้น คือที่จริงแล้ว เทคโนโลยี AIR ในความหมายของ Devialet มันคือ Asynchronous Intelligent Route แปลสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือเส้นทางต่อตรงแบบอัจริยะ อะไรประมาณนั้น
ความหมายเชิงเทคนิค AIR ก็คือโปรแกรมมิวสิค เซิร์ฟเวอร์ ที่ทางวิศวกรของ Devialet ทำการเขียนขึ้นมาใช้สำหรับการสตรีมเพลงนั่นเอง (ชื่อเต็มๆ คือ DevialetAIR) มันช่วยจัดการการรับ-ส่งสัญญาณเพลงระหว่าง “แหล่งเก็บไฟล์เพลง” กับ “มีเดีย เพลเยอร์ หรือตัวเล่นไฟล์เพลง” ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่อทำให้ได้คุณภาพเสียงออกมาเต็มตามสเปคฯ ของไฟล์เพลงทุกระดับที่ภาค DAC ในตัว 220 Pro สามารถรับได้ คือตั้งแต่ 16-bit/44.1 kHz (PCM) ขึ้นไปจนถึง 24-bit/192 kHz (PCM) ไม่ว่าจะสตรีมเข้าทางอินพุต Ethernet (สาย RJ45) หรือทางอินพุต Wi-Fi แบบไร้สายก็ตาม
ขั้นตอนปฏิบัติในการทดสอบประสิทธิภาพของโปรแกรมเซิร์ฟเวอร์ DevialetAIR ครั้งนี้..
1: เก็บไฟล์เพลงไว้ใน USB external HDD แล้วนำไปเสียบเข้ากับ Mac mini ทางช่อง USB
2: เสียบสาย Ethernet (RJ45) เชื่อมโยงระหว่าง Mac mini และ 202 Pro เข้ากับ router
3: เปิดคอมฯ ล็อคอินเข้าไปโหลดโปรแกรม DevialetAIR มาติดตั้งลงบน Mac mini ของผม (ลิ้งค์ด้านล่าง)
4: เข้าไปที่หน้า configurator ของ Devialet เพื่อเปิดใช้งานอินพุต Ethernet
5: ที่อินพุต Ethernet ปรับตั้งการเชื่อมต่อเน็ทเวิร์คไว้ที่ DHCP (เลือก DHCP > ON)
4: เปิดโปรแกรม roon บน Mac mini
5: ที่ roon เลือกเอ๊าต์พุต โดยไปที่ settings > audio > DevialetAIR
6: กลับมาที่ Library ของ roon เลือกเล่นไฟล์เพลงที่ต้องการ ซึ่งสัญญาณเสียงจากไฟล์เพลงที่เล่นจะเดินทางจากคอมฯ ไปที่ 220 Pro ผ่านทางอินพุต Ethernet
ลิ้งค์เข้าไปดาวน์โหลดโปรแกรม DevialetAIR 3.0.4
https://en.devialet.com/login-en-us/
คุณภาพของเสียงที่ได้จากการเล่นไฟล์เพลงผ่านอินพุต Ethernet ของ 220 Pro ขึ้นอยู่กับตัวแปร 2-3 ตัว ที่ส่งผลมากที่สุดก็คือคุณภาพของเน็ทเวิร์ค ซึ่งเหตุปัจจัยสำคัญก็คือคุณภาพของตัว router ซึ่งควรเลือกที่มีคุณภาพสูงหน่อย ส่วนที่สองก็คือสาย Ethernet หรือสายแลน จะใช้ CAT6 หรือ CAT7 ก็ได้ ดูรายละเอียดคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ได้จากลิ้งค์ด้านล่างนี้
ลิ้งค์แนะนำการปรับตั้งเน็ทเวิร์คสำหรับการสตรีมเพลงผ่าน Ethernet และ Wi-Fi
https://help.devialet.com/hc/en-us/categories/200536421-Expert
หลังจากได้ลองฟังเสียงของการเล่นไฟล์เพลงผ่านช่องอินพุต Ethernet ของตัว 220 Pro แล้วต้องบอกว่า มันให้เสียงที่พุ่งขึ้นไปไกลอีกขั้นแล้ว เสียงที่ได้ออกมามีรายละเอียดสูงมาก ทุกเสียงมีพลังอัดฉีดที่ล้นเหลือ มีพลังแฝงในตัว ดีดตัวออกมาจากลำโพงได้อย่างเป็นอิสระ ที่ระดับวอลลุ่มเดียวกัน เล่นไฟล์เพลงเดียวกัน เทียบกับอินพุตช่องอื่นๆ เสียงที่ได้ผ่านช่องอินพุต Ethernet นี้ฟังดีมาก ลักษณะเสียงที่ได้ออกมาโดยรวมๆ มีส่วนคล้ายเสียงที่ผ่านวงจร Loudness มาบางๆ เสียงทุ้มมีตัวตนและเคลียร์สะอาดมาก มีพลังแฝงอยู่ในตัว แต่ไม่ถึงกับหนาทึบจนอึดอัด เมื่อใช้งานอินพุตนี้ร่วมกับลำโพงที่มีฟังท์ชั่น SAM ด้วย เสียงที่ได้เหมือนขึ้นสวรรค์เลย เป็นลักษณะแนวเสียงที่นักฟังเพลงถวิลหาและเชื่อว่าจะสามารถใช้ชีวิตอยู่กับมันได้ทั้งวัน สแกนหาเพลงที่อยากฟังไม่รู้เบื่อ เพราะเสียงของอินพุต Ethernet นี้ให้ความเป็นดนตรีสูงมากกับเพลงทุกแนว และที่สำคัญ ฟังท์ชั่น SAM มันช่วยให้โฟกัสของเสียงดนตรีแต่ละชิ้นมีความคมชัดมากขึ้น ยิ่งเป็นการเสริมให้เสียงจากอินพุต Ethernet มีคุณภาพที่เด่นล้ำขึ้นไปอีกขั้นอย่างที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนแรก
สรุป
ถ้าย้อนหลังไปสักสี่-ห้าปี ทุกคนต่างก็ยอมรับว่า “digital amplifier” คืออนาคต มันคือหนทางที่วงการเครื่องขยายจะต้องเดินไป ด้วยคุณสมบัติดีๆ หลายประการที่ “analog amplifier” ไม่สามารถทำได้ แต่ตอนนั้น, -ขณะนั้น ทุกคนยังคงง่วนอยู่กับการค้นหาแนวทางการออกแบบที่จะไปให้ถึงเป้าหมายในอุดมคติ ซึ่งส่วนมากยังล้มเหลว ทั้งเนื่องจากเทคโนโลยีที่ยังมาไม่ถึงและเนื่องจากฝีมือการออกแบบที่ยังอ่อนด้อย
ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีของ digital amplifier เดินมาถึงจุดที่ใช้งานได้จริงแล้ว รวมถึงเทคโนโลยี digital audio กับเทคโนโลยี network ที่ก้าวล้ำไปมาก.. ถ้ามีทีมออกแบบเก่งๆ ที่สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มารวมกันให้เป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ คำว่า “digital amplifier” ในอนาคต จะไม่ได้ทำหน้าที่แค่ขยายกำลังให้กับลำโพงเท่านั้น แต่จะสามารถจัดการกับสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย นอกจากนั้น ยังจะสามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ในวงเน็ทเวิร์คได้ด้วย..
เอ๊ะ.. ผมลืมไป ทั้งหมดที่ว่ามานี้ Devialet ทำได้หมดแล้วนี่นา แถมยังล้ำหน้าไปไกลกว่าที่ผมกล่าวมาซะอีก อย่างฟังท์ชั่น SAM ที่ให้ผลลัพธ์น่าทึ่งมาก ผมอยากจะนับว่าฟังท์ชั่นนี้เป็นนวัตกรรมสำหรับวงการไฮ-ไฟฯ เลยทีเดียว เพราะคุณภาพเสียงที่ได้จากฟังท์ชั่น SAM นี้ ผมไม่สามารถหาได้จากการเซ็ตอัพลำโพงหรือแม้กระทั่งจากการปรับจูนอะคูสติกใดๆ
เป็นอีกครั้งที่ผมอยากจะแนะนำให้คุณไปหาโอกาสทดลองฟังกันให้ได้ ไปลองฟังอินติเกรตแอมป์ตัวนี้เพื่อเป็นประสบการณ์ให้รู้ว่า digital amplifier ที่เสียงดีจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร.? /
———-
ราคา : xxx บาท / ตัว
———-
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย :
บริษัท Deco2000 โทร. 0-2256-9700
———-