Wilson Audio Setup Procedure (WASP)

ประสบการณ์ ในการไป Training การเซ็ทอัพลำโพงแบรนด์ชั้นนำระดับโลก Wilson Audio ที่ต้องบินไปเรียนถึงอเมริกา ในหลักสูตร Wilson Audio set-up Procedure (WASP) เพื่อที่จะได้นำมาใช้งานจริง และถ่ายทอดให้ผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเครื่องเสียงได้เข้าใจอย่างถูกต้องครับ

หลังจากฝ่าวิกฤตมาได้ 14ชม. เครื่องก็เตรียมร่อนลงที่ Los Angles (LAX) แล้วครับ ดีใจหนักมาก ที่จะได้เหยีบพื้นอีกครั้ง 5555
ต่อไปก็คือการรอต่อเครื่องไป Salt lake city ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางอีกราวๆ 2 ชม. 

มาถึงแล้วครับ Wilson Audio ผู้ผลิตลำโพงไฮเอนด์ระดับโลกๆๆ มาถึงแล้วสามหนุ่มก็ขอถ่ายรูปเป็นที่ระทึกไว้หน่อยครับ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายๆในการเดินทางจากไทยมาถึงที่นี่ และยังได้เข้าไปชมถึงขั้นตอนการผลิตแบบเจาะลึกด้วยคร้าบบบ

มาถึงก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากครอบครับ Wilson ครับ ที่เห็นในภาพนี่คือ Darryl Wilson ลูกชายที่สืบสานการออกแบบและผลิตลำโพงต่อจากคุณพ่อ David A. Wilson ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วจากโรคมะเร็งร้ายครับ ทางผมและทีมงานขออภัยที่ต้องกล่าวถึง และขอแสดงความเสียใจไว้ตรงนี้อีกครั้งครับ

คุณเชอริ่ลภรรยาของเดฟ เริ่มจากการเล่าประวัติความเป็นมาของ Wilson Audio ก่อนเลยครับ เรื่อเกิดเมื่อราวๆ 50 ปีก่อน จากที่คุณ Dave Wilson หลงเสน่ห์ในเสียงเพลงที่ได้ยินจากข้างบ้าน ซึ่งเค้าใช้ลำโพง Klipschorn อยู่ ทำให้เค้าหลงรักการฟังเพลง และอยากเล่นเครื่องเสียงขึ้นมาทันที โดยเริ่มจากการทำเครื่องเสียง และลำโพงขึ้นมาใช้เองแบบ DIY เพราะสมัยเด็กไม่สามารถมีเงินไปซื้อเครื่องเสียงแพงๆได

จนวัยรุ่น Dave ก็เริ่มมีชุดเครื่องเสียงของตัวเองแบบครบๆ แต่ก็ยังรักในการที่จะทำและออกแบบลำโพงเองอยู่ แล้วเครื่องเสียงก็ได้ทำให้เค้าได้พบกับความรักครับ เพราะเมื่อช่วง 1964 Dave ก็ได้พบ Sheryl โดยที่เธอต้องการอัดเสียงจากแผ่นเสียง ลงเทป ซึ่งมีคนแนะนให้มาหาเดฟ เพราะเครื่องมือครบมากๆ แล้วก็เกิดรักแรกพบในทันที ทั้งคู่ก็เลยคบกันจนปี 1966 ก็ได้จัดพิธีสมรส แล้วก็ใช้ชีวิตคู่กันอย่างมีความสุข และมีลูกเป็นพยานรัก 4 คน

พอถึงปี 1974 เดฟก็ได้เริ่มสร้างสินค้าชิ้นแรกขึ้นมาภายใต้แบรนด์ Wilson Audio ซึ่งไม่ใช่ลำโพงที่หลายๆคนคิดกัน แต่เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ทำการ Modify ปรับจูนใหม่โดยเดฟ ซึ่งใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงของ AR มาถอดเปลี่ยน Arm เป็นของ SME 3009 และปรับปรุงระบบรับแรงกระเทือนใหม่ ซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมในยุคนั้นมาก

แต่ในความรู้สึกเค้า เริ่มอยากจะทำงานห้องอัดบันทึกเพลงเอง เพราะต้องหาเพลงดีๆเสียงฟังเป็นธรรมชาติ และสมจริงมาฟังในการออกแบบลำโพง ในช่วงปี 1976 เดฟและเชอริ่ล ได้ทำค่ายเพลง Wilson Audiophile Definitive Recordings ซึ่งได้ทำออกมาหลายอัลบั้มและปัจจุบันก็ยังมีแผ่นขายอยู่บางอัลบั้ม

หลังจากนั้นเดฟก็ได้เริ่มวิจัยและออกแบบลำโพงอย่างจริงจัง นั่นก็คือลำโพงระดับตำนาน “WAMM” ซึ่งเป็นที่ฮือฮามาก เพราะสมัยนั้นไม่มีใครทำลำโพงทรงแบบนี้ และปรับแต่งได้ละเอียดขนาดนี้

ต่อจาก WAMM เดฟก็ได้ผลิตสินค้าออกมาเพิ่มอีกหลายชิ้น คือ WATT, PUPPY และ WHOW พอถึงปี 1991 ทางเดฟและครอบครัว ได้ย้ายไปอยู่ที่ UTAH เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และพื้นที่ในการวิจัยลำโพงให้ดีขึ้นอีก

จนถึงปัจจุบันกว่า 45 ปีแล้ว ที่ Wilson Audio ได้ผลิตลำโพงคุณภาพเยี่ยมออกมาให้นักฟังได้ใช้กัน ลูกชายของเดฟ ดาริ่ล ได้เป็นผู้สืบสานสิ่งที่เดฟตั้งใจทำไว้ต่อไป และจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะลำโพงรุ่นใหม่ๆนั้น Daryl มีส่วนช่วยออกแบบ และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆใส่เข้าไปทุกรุ่น

คุณ Blake หนึ่งในวิศวกรออกแบบ กำลังแนะนำเรื่องการวิจัยวัสดุที่ใช้ในการทำตัวตู้ลำโพงของ Wilson Audio ครับ คือไม่ได้ทำตู้ลำโพงด้วยการเดาสุ่มๆมีการใช้คอมพิวเตอร์วัดผลจากเลเซอร์ความเร็วสูง เพื่อดูการสั่น การตอบสนองต่อแรงสั่นสะเทือน และยังต้องวัดการสั่นค้าง และการตอบสนองของเสียงในแต่วัสดุด้วยครับ

นอกจากการวัดในห้อง LAB แล้ว ทางทีม Wilson Audio ก็ยังไม่ได้เชื่อแต่ตัวเลขครับ ต้องมีการเอามาสร้างเป็นลำโพงจริงๆด้วย เพื่อเป็นการยืนยันว่าผลของตัวเลข กับการใช้งานจริง ให้ผลแตกต่างกันอย่างไร เป็นที่มาของการเลือกใช้วัสดุแตกต่างกันของตัวตู้ ตั้งแต่ SUB, Woofer, Midrange แล้วก็เสียงแหลม ในแต่ละรุ่นของลำโพงจะใช้วัสุแตกต่างกันครับ เรียกได้ว่าลองทดสอบมาหมดแล้ว

จากนั้นได้ต่อยอดพัฒนา “S-Material” มาใช้เป็นตู้ลำโพงสำหรับเสียงกลาง เพื่อให้น้ำเสียงที่เป็นธรรมาชาติ และล่าสุด “W-Material” เพื่อใช้ในส่วนที่รับน้ำหนัก และช่วงที่มีการเชื่อมต่อกับฐานหรือโครงตู้ส่วนอื่นๆ นั่นหมายถึงในลำโพง Wilson Audio หนึ่งชุด จะมีวัสดุที่แตกต่างกันหลายชนิดเลยล่ะ

นอกจากคิดค้นวัสดุใหม่มาได้แล้ว ก็จำเป็นต้องหาวัตถุดิบ ชิ้นส่วนอื่นๆ เพื่อมาใช้ในการเชื่อต่อตัวตู้เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกาวชนิดพิเศษที่สั่งทำมาโดยเฉพาะ มีแรงยึดเกาะสูง และยืดหยุ่นในตัว เมื่อติดแล้วจะไม่สามารถแยกกันได้ คือถ้าจะแยกต้องมีชิ้นส่วนแตกเสียหายทันที คือเหมือนเนื้อกาวผสานเป็นชิ้นเดียวกันเลย

หรือแม้กระทั่งน็อตที่จะนำมาใช้ ก็ต้องลองเทสใหม่หมดครับ ว่าต้องใช้น็อตเกรดไหนหรือว่าใช้แรงบิดขันเท่าไรถึงจะให้ผลดีที่สุด เดี๋ยวอันนี้จะมีอยู่ในหลักสูตรการติดตั้งลำโพงด้วยครับ เพราะมันมีผลต่อเสียงพอสมคว

หลังจากแนะนำวัสดุที่ใช้ในการออกแบบลำโพงเรียบร้อยแล้ว เค้าก็ได้แนะนำลำโพง Bookshelf น้องใหม่จาก Wilson Audio ก็คือ TuneTot ที่มีการนำเทคโนโลยีจากรุ่นใหญ่ๆย่อส่วนลงมาได้อย่างลงตัว มาพร้อมกับฐานวางลำโพงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เป็นลำโพงที่ไม่สนใจว่าจะวางบนโต๊ะหรือมาขาตั้ง เพราะฐานที่ออกแบบมามันสามารถรองรับการใช้งานได้ทุกรูปแบบครับ

ช่วงพักเบรค ดาริ่ลก็ไม่ปล่อยให้ว่าง ลากลำโพง Sasha D.A.W มาแนะนำถึงในห้อง เนื่องจากเป็นลำโพงที่เรียกได้ว่าสดใหม่ที่สุด จัดเทคโนโลยีใส่เข้าไปเต็มๆ แถมยังเป็นลำโพงที่สร้างเพื่อรำลึกถึงคุณเดฟ ผู้เป็นพ่อ (D.A.W ย่อมาจาก David Andrew Wilson ชื่อเต็มของเดฟ) เนื่องจาก Sasha พัฒนามาจากลำโพง WATT PUPPY ที่เดฟเป็นคนคิดค้นขึ้น และได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นที่กล่าวขวัญจนถึงปัจจุบัน

บทเรียนต่อไปก็คือการเรียนรู้เรื่องตำแหน่งที่ควรจะติดตั้งลำโพงให้ได้เสียงที่ดีครับ ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักๆของการเล่นเครื่องเสียง แต่โดนมองข้ามไป เพราะคนส่วนใหญ่จะเน้นการเปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนลำโพง มากกว่าการเน้น SETUP ครับ ลำโพงที่ใช้ในการสอนหาตำแหน่งเสียง เป็นลำโพง Wilson Audio Sabrina ลำโพงตั้งพื้นรุ่นน้องเล็กในค่ายครับ สังเกตที่พื้นตำแหน่งวางลำโพงพรุนเลยเชียว

คุณ Trent รับหน้าที่ในการสอนเรื่องนี้ครับ เค้าก็แนะนำเรื่องห้องก่อน ว่าให้ตรวจสอบว่าวัสดุต่างๆของห้องนั้นทำจากอะไร เพราะมันมีผลต่อเสียงก้อง เสียงสะท้อน ควรวางด้านไหนของห้อง หลังจากนั้นเค้าก็แนะนำวิธีหาตำแหน่งวางลำโพงแบบง่ายๆที่ทุกคนสามารถทำได้เอง โดยการเอาเทปแปะระยะไว้ที่พื้นเว้นช่องห่าง 1 นิ้วบอกระยะห่างจากกำแพง ทำแบบเดียวกันทั้งกำแพงข้าง และผนังหลังที่จะวางลำโพงครับ

จากนั้นให้ทำการพูดคำที่เมื่อเสียงต่ำๆหน่อยเช่น One, Two หรือคำไหนก็ได้แล้วแต่ถนัด พูดด้วยเสียงที่ดังพอๆกันทุกครั้ง เริ่มจากเอาหลังพิงกำแพง แล้วค่อยๆขยับเดินหน้าทีละหนึ่งนิ้ว ขยับและพูด ขยับแล้วพูดไปเรื่อยๆช้าๆ ให้เราฟังเสียงที่เราพูดว่ามีความชัดเจน เสียงก้องสะท้อนน้อย ฟังแล้วเสียงเป็นธรรมชาติที่สุด ซึ่งระยะที่เดินครั้งแรกเราอาจจะมาร์คตำแหน่งช่วงที่ชอบไว้ก่อน แล้วค่อยๆกลับมาทำซ้ำช่วงที่เราชอบอีกที ก็จะได้ตำแหน่งที่ใกล้เคียงแล้วครับ ทำแบบนี้กับทั้งสองแกนครับแล้วตีกรอบ Area ที่ให้เสียงดีไว้ ค่อยมาไฟน์จูนอีกครั้งจากการนั่งฟังครับ

พร้อมกันนั้นยังได้แนะนำ Track ที่ใช้ในการ Setup ตำแหน่งลำโพงด้วย ว่าถ้าลำโพงห่างกันเกินไป ลำโพงชิดผนังหลัง ลำโพงเดินหน้ามามากเกินไป มันจะเกิดผลอย่างไรขึ้นบ้าง ซึ่งแต่ละคนสามารถหาเพลงที่ฟังชำนาญ เอามาใช้เป็นสูตรในการเซ็ทอัพลำโพงของตัวเองได้ครับ Trent ย้ำว่าการเซ็ทตำแหน่งลำโพง เป็นหัวใจของการเล่นเครื่องเสียงทีเดียว ถ้าตรงนี้ยังไม่ได้อย่าเพิ่งไปทำอย่างอื่นเลย

ต่อมาคือเรียนเรื่อง Basic ของการติดตั้งลำโพง เซคชั่นนี้รับผิดชอบโดยลุงบิลครับผม มีทั้งเรื่องการลอกสติกเกอร์กันรอยของตัวลำโพง ของการขันสไปค์ รวมไปถึงการติดติ้งตัว R ของ Crossover แล้วก็การทำความสะอาดติดตั้งสายเชื่อมต่อลำโพงด้วย

ลำโพงของ Wilson Audio ตอนส่งมอบลูกค้า จะมีการ wrap ตัวตู้เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนจากการขนส่งและติดตั้งครับ (วัสดุเดียวกับที่ใช้ Wrap รถยนต์) ซึ่งมีเทคนิคเล็กน้อยในการดึงพลาสติกแร๊ปนี้ออก คือการดึงในมุม 45 องศาครับ เพราะการดึงพลาสติกนี้ในแกนแนวตั้งหรือแนวนอน จะทำให้เอาออกยากและต้องใช้แรงมากกว่าปกติ และอาจจะดึงแรงจนลำโพงล้มเกิดความเสียหายได้

แล้วก็มาถึงการขันสไปค์ของลำโพงครับ ซึ่ง Wilson Audio ได้ออกแบบมาเองเป็นพิเศษ จึงต้องมีเทคนิคการติดตั้งไม่เหมือนคนอื่น มีการแยกสกรูออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่ยึดกับตัวลำโพง แล้วก็ส่วนที่จิกลงพื้นครับ วัสดุที่ใช้แข็งแรงแน่นหนา และดูสวยงามทีเดียว โดยทาง Wilson ให้ทำการหมุนสกรูฝั่งจิกพื้นเข้าไปก่อน ให้เหลือโดยประมาณ 4 เกลียว แล้วค่อยขันสกรูอีกตัวเข้าไปให้ชนกันพอดีจนแน่นครับ

หลังจากนั้นก็เอาไปขันเข้ากับฐานลำโพงอีกทีใช้มือหมุนฐานกลมๆใหญ่ๆจนตึงมือ แล้วค่อยเอาประแจหกเหลี่ยมมาขันฝั่งแหลมจิกพื้นอีกทีครับ ฝั่งนี้ไม่ต้องแน่นมากก็ได้ เพราะตอนติดตั้งจริงต้องมีการปรับแต่งระดับน้ำอีกที

ส่วนทางด้านของการติดตั้ง Resistor ในภาค Crossover นั้น R ที่ใช้เป็นเกรดสูงของ Caddock ครับ ยี่ห้อนี้นัก DIY จะรู้จักดีว่าเกรดดีขนาดไหน ซึ่งนอกจากกจะเป็นส่วนหนึ่งของภาคจูนเสียงแล้ว ยังมีส่วนในการใช้ป้องกันลำโพงไม่ให้เสียหายด้วยครับ คือถ้าภาคแอมป์ทำงานผิดปกติ Resistor ของลำโพงจะเสียหายก่อน

ถัดมาคือการติดตั้งสายลำโพงจาก Crossover Network ไปยังลำโพงตู้บนครับ อย่างที่ทราบกันว่าลำโพง Wilson Audio หลายๆรุ่นจะแยกตู้เสียงกลาง และเสียงแหลมจากตู้หลัก จึงต้องมีการเชื่อมสายเส้นนี้กับขั้วลำโพงครับ ลุงบิลแนะนำว่าเห็นว่ามันสะอาดๆแบบนี้ ไม่ใช่ว่าสะอาดนะครับ ต้องใช้ผ้าเช็ดเครื่องเงินและทอง มาเช็ดทำความสะอาดครับ จากในรูปดูด้วยตาก็เห็นว่าไม่มีอะไร

แต่พอเช็ดเส็รจเท่านั้นแหละดำขนาดนี้เลยล่ะ อันนี้เราสามารถประยุกต์ไปใช้ในการทำความสะอาดสายลำโพง ขั้นบานาน่า ขั้วก้ามปู หัว connector แบบต่างๆได้เลยครับ มีผลต่อการนำสัญญาณไฟฟ้า ช่วยให้คุณภาพเสียงดีขึ้นแน่นอนจ้าา

จบเซคชั่นลุงบิลแล้ว ลุงเทรนท์ก็ลากเข้าไปอีกห้องหนึ่งต่อ เป็นการสอนเซ็ทลำโพงแบบละเอียด และการจดบันทึกไว้ใช้งานครับ ซึ่งในการสอนรอบบนี้ใช้ลำโพง Sasha DAW รุ่นใหญ่ขึ้นมาหน่อย เวที มิติเสียงนี้เต็มห้องสะใจดีเหลือเกินครับ

ตัวอย่างเอกสารในการใช้จดบันทึกตำแหน่งลำโพงครับ ไม่ว่าเราจะเอาลำโพงไปเซ็ทที่ห้องไหน ใช้เครื่องเสียงชุดไหนอยู่ก็ให้เราจดบึนทึกตำแหน่งลำโพงให้ละเอียด และลองขยับลำโพงดูหลายๆตำแหน่ง พร้อมให้คะแนนแต่ละจุดว่าคุณภาพเสียงในแต่ละหัวข้อเป็นอย่างไรบ้าง เช่น ปริมาณเสียงต่ำ, มิติ, โฟกัสเสียง และความลื่นไหลของดนตรีครับ

เสร็จแล้วก็ให้ทุกคนลองทำ ลองจดบันทึกครับ แล้วก็ลองฟังลงความเห็นกัน ซึ่งสามารถช่วยให้เราไม่งงเวลาเซ็ทไปหลายๆจุด สามารถกลับไปหาตำแหน่งที่เสียงดีได้อย่างรวดเร็วด้วยเอกสารครับ

มาถึงวันที่เข้าไปดูการผลิตลำโพง Wilson Audio แล้วครับ คุณ Korbin จะรับหน้าที่เป็นไกด์ทัว พาเข้าไป และแนะนำขั้นตอนต่างๆให้เราครับ

เริ่มด้วยผังองกรค์ของก่อนเลยครับ ทาง Wilson Audio นั้นคัดพนักงานที่มี Passion ความรัก หรือหลงไหลในงานที่ทำครับ เรื่องของเรื่องคือสมัยคุณเดฟยังวัยรุ่น เค้าได้ไปเยี่ยมชมโรงงาน Marantz ซึ่งสมัยนั้นโด่งดัง และเป็นที่นิยมมากๆ เค้าเลยได้คุยกับพนักงานคนนึง ว่าคุณโชคดีจริงๆที่ได้ทำงานกับบริษัทเครื่องเสียงระดับโลกแบบนี้ แต่พนักงานคนนั้นกลับตอบว่า “มันก็แค่งาน” ทำให้เดฟรู้สึกว่าถ้าเค้าทำบริษัทขึ้นมา เค้าจะต้องคัดพนักงานที่ มีความรัก ภูมิใจ หรือหลงไหลในงานที่ทำเท่านั้นครับ

เข้าไปถึงก็เจอกับโซนแรก คือส่วนของการเตรียมจัดส่งสินค้า และทำประวัติเก็บข้อมมูลของลำโพงทุกคู่ไว้ ไม่ว่าจะเป็นค่าต่างๆของวงจร Crossover ที่ได้ Fine Tune ไว้ หรือค่าของดอกลำโพงสำหรับคู่นั้นๆ เพราะเมื่อสินค้าใช้งานไปนานๆอาจมีการต้องเปลี่ยนดอกลำโพงบางตัว จะต้องเอาเลข Serial ลำโพงมาตรวจสอบ หาดอกลำโพงที่ตรงสเปคกับดอกเดิมครับ

เดินต่อไปหน่อยก็เจอกับตู้ลำโพง WAMM ครับ ลำโพงคู่ละ 20 ล้านบาท ซึ่งชุดนี้เป็นลำโพงตัวอย่างที่ลองขึ้นโครงกันสมัยทดลองกัน โดยกว่าจะสำเร็จได้ต้องขึ้นแบบนี้ทดสอบกันหลายต่อหลายครั้งครับ

ซึ่งลำโพงต้นแบบจะวางรวมๆกันอยู่บริเวณนี้ครับ พอขึ้นต้นแบบเสร็จเค้าจะเอาไปทดสอบเรื่องความแข็งแรง การคาดโครงตู้ และระบบกลไกต่างๆของลำโพง จนสมบูรณ์แล้วค่อยเอาไปทำการผลิตจริงครับ

ในรูปนี้เป็นโครงตู้ของลำโพง Sabrina ลำโพงตั้งพื้นรุ่นเล็ก แต่ดูที่ด้านในก็ต้องออกแบบซับซ้อนใช้ได้เลย มีการคาดโครงตู้ไม่ให้เกิดการสั่นครางของตู้ และการแบ่งห้อง สร้างปริมาตรตู้ของแต่ละ Driver ด้วยครับ

ถ้าเป็นลำโพงรุ่นใหญ่ๆเค้าจะมีระบบกลไกในการปรับ Time Alignment ของเสียงกลาง และเสียงสูงด้วยครับ อย่างในรูปนี่คือการปรับแบบละเอียด ซึ่งมีลำโพง Wilson Audio เท่านั้นที่สามารถปรับ Time Alignment ของเสียงได้ 

นอกนั้นยังมีมุมก้มเงยของลำโพงครับ ซึ่งปรับเฉพาะเสียงกลางและเสียงแหลม โดยไม่ไปยุ่งกับลำโพงเสียงต่ำ ทำให้สามารถวางลำโพงในห้องต่างๆได้อย่างลงตัว สามารถลงกับห้องได้ทุกรูปแบบครับ

อันนี้เป็นผนังด้านในของลำโพงที่ออกแบบให้มีร่องต่างๆ เพื่อช่วยให้เสียงกลางไม่เกิด Resonance กับความถี่ใดความถี่หนึ่ง ช่วยเกลี่ยเสียงให้ออกมาใกล้เคียงกันทุกความถี่ครับ

มาถึงส่วนการผลิตตัวตู้ลำโพงแล้วครับ ตรงนี้จะเป็นจุดที่ใช้ในการตัดชิ้นส่วนตู้ CNC การติดชิ้นส่วนตู้เข้าด้วยกัน พนักงานในแผนกนี้มาแนะนำขั้นตอนการ CNC วัสดุ X Material ที่ยากต่อการทำมากๆ เพราะมีความแข็งสุด และไม่สามารถใช้ของเหลวในการหล่อเลี้ยงดอกสว่านได้ ทำให้เปลืองดอกสว่านมากๆ ทั้งหมดคมเร็ว แล้วก็หักเลยก็มี

และเนื่องจาก X Material มีการสั่งทำมาโดยเฉพาะ จึงมีความหนากว่าปกติมาก ทำให้เวลานำมาทำตู้ลำโพงใช้จริง ต้องมีการ CNC ออกเยอะ และเปลืองเวลามากกว่าจะได้แต่ละชิ้นออกมา อย่างในรูปต้อง CNC ชิ้นทางซ้าย ให้มีความบางเท่าทางขวา

อันนี้คือเครื่อง CNC ที่กำลังทำงานอยู่เลยครับ รอบหมุน และความเร็วของการหมุนดอก CNC ต้องทดลองมาเป็นอย่างดี

ต้องมีความละเอียดแม่นยำสูง เพราะต้องคำนวนให้ความเร็วรอบสัมพันธ์กับการฟีดของชิ้นงาน และภาพนี้ก็คือชิ้นส่วนที่ CNC เสร็จแล้วรอการประกอบต่อไปครับ

คุณคอร์บินกำลังแนะนำตู้รุ่นใหม่ๆของ Wilson Audio ที่ใช้การผสมผสานของ S-Material และ X-Material เข้าด้วยกัน เพื่อให้เสียงดียิ่งขึ้นไปอีก

แล้วก็ตัวตู้ที่ประกอบเรียบร้อยแล้วเรียงแถวรอขั้นตอนต่อไปคือการเก็บชิ้นส่วนเกิน และกาวรอยต่อต่างๆออกให้หมดครับ

การขัดมีทั้งใช้เครื่อง และใช้มือครับ ส่วนที่เป็น X-Material ต้องใช้กระดาษทรายติดกับแผ่นอลูมิเนียมอย่างหนามากๆ ให้มีน้ำหนักกดครับ

ไอ้แผ่นนี้ผมลองยกดูไม่น่าจะต่ำกว่า 30กิโล แค่ยกขึ้นมาก็เหนื่อยแล้ว ยังไม่ทันขัดเลย 555

ในส่วน Store อะไหล่ต่างๆที่ใช้ในการผลิตลำโพงครับ ลำโพงแต่ละรุ่นใช้อะไหล่แตกต่างกันหมด ทำให้ต้องแยกหมวดหมู่ และจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ

ชิ้นส่วนต่างๆของลำโพงที่ถูกแยกไว้ตามหมวดหมู่ และรุ่นของลำโพงครับ

ตัวดอกลำโพงก็มีการวัดค่าบันทึก แล้วจัดเก็บอยู่ในนี้เช่นกันครับ ดูตัวอย่างดอก Sub-Woofer ที่เค้าใช้สิครับ สั่งออกแบบมาโดยเฉพาะ Long throw ช่วงชักลึกสุดๆ เป็นดอกลำโพงที่หาไม่ได้ง่ายๆในท้องตลาด

แถมด้วยท่อ Bass Reflex ที่เป็นการ CNC อลูมิเนียมแท่ง ให้เป็นท่อกลวงแทนการใช่ท่อพลาสติกทั่วไป

ต่อไปจะพาเข้าระบบทำสีตู้ลำโพงแล้วครับ

ขั้นตอนทำสีตู้ลำโพงจะมีหลายขั้นตอนเลยครับ ตั้งแต่เริ่มโป๊วสี ขัดให้เรียบ พื้นสีรองพื้น พ่นสีจริง แล้วก็ขัดเคลือบสีครับผม ในรูปนี้จะเป็นกระบวนการเริ่มต้นของการทำสีตัวตู้ คือใช้สีอุดให้เรียบ แล้วก็ทำการขัดให้เรียบที่สุด

โดยใช้บรรทัดขนานส่องกับแสงไฟตรวจสอบความเรียบของสีและตัวตู้ครับ ถ้าไม่ผ่านขั้นตอนนี้ก็ต้องส่งกลับแผนกขัดตู้ใหม่เพื่อทำให้เรียบที่สุดครับ

จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการทำสีรองพื้น ทำสีจริง แล้วก็เคลือบสีครับ หลังทำสีทุก Layer เค้าจะนำเข้าห้องอบสีเพื่อให้สีแห้งสนิท โดยระบบทั้งหมดคล้ายกับการทำสีรถยนต์แบบแห้งช้าเลยครับ เพื่อไม่ให้สีเป็นผิวส้ม หรือเสียบยุบตัวเป็นคลื่น

เฉดสีของตู้ลำโพงที่สามารถสั่งทำได้ครับ และช่วงหลังนี้สามารถสั่งทำได้ว่าจะเอาสีแบบ Polish (เคลือบเงา) หรือแบบ Satin (สีด้าน) 

หลังขั้นตอนทำสีครบถ้วนทุกขั้นตอนแล้ว เค้าจะต้องเอาตู้ลำโพงมาส่องไฟในห้องที่มีหลอดไฟเยอะมากๆ ล้อมรอบห้อง เพื่อให้เห็นริ้วรอยของการทำสีทั้งหมด ทุกเหลี่ยมทุกมุม โดยกระบวนการขัดเคลือบสี และขัดแก้ไขริ้วรอยจะอยู่ที่ห้องนี้ครับ

เครื่องไม้เครื่องมือเหมือนกับคาร์แคร์อย่างดีเลยครับ เจ้าหนุ่มคนนี้เห็นยังเด็กๆอยู่แต่คุณคอร์บินบอกว่าใจเย็นและฝีมือดีมากๆ

ส่วนห้องถัดมา คือแผนกที่เจ้าหนุ่มเมื่อกี๊เกลียดครับ 555 นั่นคือแผนกจับผิดริ้วรอยของลำโพงรอบสุดท้ายครับ ซึ่งลุงคนนี้ตามดมากๆ ลำโพงบางตัวถ้าไม่วงปากกาไว้อาจจะมองไม่เห็นว่าเป็นริ้วรอย

แต่ลุงเค้าไม่เคยปล่อยออกไปครับ เดี๋ยวจะเสียชื่อเสียงบริษัทที่เค้ารัก เพราะลุงคนนี้ต้องขับรถมาทำงานวันละเกือบ 200 กิโลทุกวัน ถ้าใจไม่รักทำไม่ได้จริงๆ

ตู้ลำโพงที่ผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการห่อพลาสติกกันรอยทั้งตู้ และส่งมาที่แผนกติดตั้งดอกลำโพง Crossover network และก็การไวร์ริ่งสายลำโพงต่างๆครับ ภาค Crossover นั้นใช้การ Hard Wiring ทั้งหมด คือการใช้ขาอุปกรณ์ R L C ต่อถึงกันโดยไม่ใช้สายเพิ่ม หรือไม่ได้เชื่อมต่อกันโดยใช้ลายทองแดงจาก PCB ครับ

จากนั้นเค้าก็จะหล่อด้วยเรซิ่นเพื่อลดการชำรุดเสียหายจากการเคลื่อนย้าย ขนส่ง และการสั่นสะเทือนของตัวอุปกรณ์ในขณะเปิดเพลง

แล้วก็ติดตั้งกล่อง Crossover เข้าไปในตั้วตู้ เดินสายลำโพง ขั้วต่อต่างๆ แล้วก็ติดตั้งดอกลำโพงเข้าตัวตู้ครับ

ซึ่งสายลำโพงของแต่ละรุ่นจะไม่เหมือนกันเลย มีเล็กมีใหญ่ ตัวนำคนละชนิดครับ เพราะมีการจูนเสียงไว้ให้แมทช์กับรุ่นของลำโพงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ลำโพงที่ประกอบเสร็จแล้วก็จะรอนำไปทดสอบคุณภาพต่อครับ ว่าได้ตรงตามสเปคที่ออกแบบไว้ แล้วก็เตรียมแพ็คส่งให้ถึงมือลูกค้าอย่างปลอดภัย

WAMM ที่ได้ทำการใส่วงจร Crossover เรียบร้อยแล้วก็อยู่บริเวณนี้เช่นกันครับ

ห้องข้างๆกันเป็นห้อง Run-in Driver ลำโพงครับ ก่อนเอาไปใช้งานเค้าจะมีการเปิดไฟล์เสียง เพื่อทดสอบและรันให้ลำโพงพร้อมใช้งาน ซึ่งใช้เวลาเป็นวันๆกว่าจะได้ลำโพงชุดนึง

หลังจากรันอินเรียบร้อยก็ต้องเอาไปตรวจสอบที่ห้องไร้เสียงสะท้อนอีกทีครับ ถ้าไดร์เวอร์ตัวไหนไม่ผ่านค่าจะจะถูกคัดออกไป

ส่วนนี้เป็นส่วนของการวิเคราะห์การสั่นสะเทือนของตัวตู้ลำโพงแต่ละจุดครับ ที่ต้องมีการคาดโครง หรือ Damping ลำโพงด้านใน เค้าจะต้องเช็คให้ละเอียดก่อนทำสินค้าขายจริง อย่างในรูปเค้าใช้ทั้งวิธีเอาเซนเซอร์แปะตามจุดต่างๆของลำโพง ปล่อยความถี่ และวัดด้วยคอมพิวเตอร์ ว่าตัวตู้มีปัญหากับความถี่ไหนรึเปล่า

แล้วก็อีกวิธีคือเอา Laser ความเร็วสูงยิงตามจุดต่างๆ แล้ววัดค่าการสั่นสะเทือนออกมาวิเคราะห์

ห้องนี่เป็นอีกห้องนึงที่จำลองให้มีสภาพเสียงแย่ที่สุดครับ ประมาณว่าถ้าลำโพงทดสอบผ่านจากห้องนี้ไปได้ เอาไปตั้งที่ไนก็เสียงดีแน่นอน ห้องนี้จะมีทั้งการเปิดเสียงทดสอบ เปิดเพลงฟังจริง

แล้วก็ยิง Laser ทดสอบตัวตู้ที่โดนแรงกระทำจากตัวเอง และแรงสะท้อนสภาพห้องด้วยครับ กว่าจะออกมาเป็นสินค้าพร้อมขายนี่ทดสอบหนักจริงๆ

แลัวยังมีห้องทดสอบชิ้นส่วนต่างๆที่ใช้ด้วยครับ อย่างเช่นขั้วลำโพง ก้ามปู สายลำโพงที่จะนำมาใช้ จะทดสอบในห้องนี้ครับ รวมถึงการจูนค่าอะไหล่อิเล็คทรอนิคส์ต่างๆด้วยครับ

ลองดูตัวอย่าง capacitor ที่เค้าใช้ทดสอบทำภาค Crossover สิครับ ต้องจูนกันละเอียดเลยทีเดียว เนื่องจากตัวคาปาซิเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่มีเปอร์เซ็นต์ผิดพลาดสูง ต้องคัดหลายๆตัวถึงจะได้ค่าที่ต้องการ แล้วถ้าค่าที่ต้องการในการออกแบบไม่มีขาย ต้องทำการขนานกันจนกว่าจะเจอค่าที่ต้องการครับ เล่นจูนกับแบบเศษทศนิยมสองตำแหน่งเลยครับ

แล้วก็ยังมีพวกไดร์เวอร์ที่เอามาทดลองอีก ต้องทดสอบจนมั่นใจถึงจะเอามาใช้งานจริงๆ

หลังจากพาชมขั้นตอนการผลิตเรียบร้อยแล้ว มีการพาชมลำโพงรุ่นต่างๆที่เคยผลิตมา ตั้งแต่เครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวแรกของแบรนด์

รวมถึง WAMM รุ่นเก่า หรือ Watt Puppy ด้วยครับ

ก่อนจบที่โรงงาน เค้ามี Section สุดท้ายมีสอนวิธีการเซ็ทลำโพงต่ออีกหน่อยครับ คือการเซ็ทเรื่องระดับน้ำของลำโพง ซึ่งมันมีผลต่อเสียงมากเหมือนกัน เกี่ยวกับเรื่อง Timming ของเสียงครับ ที่จะต้องทำให้มาถึงหูในระยะเวลาใกล้เคียงกันที่สุด ซึ่งถ้าลำโพงทั้งสองตัวระดับน้ำไม่เท่ากัน นั่นหมายถึงอาจจะมีลำโพงข้างนึงเสียงมาถึงหูเราช้าหรือเร็วกว่า ทำให้มิติ และตำแหน่งเสียงคลาดเคลื่อนจากจุดที่ห้องอัดบันทึกมาได้ครับ

การวัดระดับน้ำของลำโพงนั้นต้องทำให้ครบทุกแกนครับ XYZ ซึ่งถ้าระดับน้ำได้แล้ว เสียงที่ผมฟังเปรียบเทียบกับก่อนปรับ คือเสียงมันจะนิ่งกว่า ไม่วูบวาบไปมา ตำแหน่งชิ้นดนตรีอยู่ตรงไหนตรงนั้น ไม่แกว่งไปมาครับ และรู้สึกว่าดนตรีเล่นแบบมืออาชีพขึ้นจังหวะจะโคนดีไม่เร่งจังหวะ ฟังแล้วผ่อนคลายกว่าครับผม

อีกส่วนนึงที่ทาง Wilson Audio แนะนำคือการขันสกรูยึดไดร์เวอร์ลำโพงให้ได้ตามสเปคครับ คือลำโพงของ Wilson Audio จะมีสเปคความแน่นในการไขสกรูทุกรุ่นอยู่ในคู่มือติดตั้งของลำโพงรุ่นนั้นๆครับ เพราะตอนทดสอบเสียงของลำโพงก่อนผลิต เค้าจะมีการเก็บข้อมูลไว้ทั้งหมด รวมทั้งความแน่นของสกรูด้วย เพื่อลำโพงทุกคู่ได้เสียงเหมือนกันจริงๆ

เนื่องจากการขนส่งข้ามประเทศ อาจจะมีการกระแทก หรือสภาพอากาศทำสกรูมีการคลายตัว เมื่อเราติดตั้งลำโพงจึงจำเป็นต้องมีการรีเช็คใหม่หมดครับ อย่างในรูปจะเป็นไขควงเช็คปอนด์ครับ เมื่อเราตั้งค่าไว้เท่าไร พอขันถึงมันจะฟรีครับ ขันต่อไม่ได้ ทำแบบนี้กับสกรูทุกตัว ซึ่งค่าความแน่นของสกรูในแต่ละไดร์เวอร์จะไม่เท่ากันต้องดูในคู่มือให้ดีครับ

หลังจากเซ็ทอัพลำโพงคู่หน้าเรียบร้อย ลุงปีเตอร์ก็มาสอนหลักสูตร SUB Woofer สำหรับ 2ch. ต่อครับ ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้จะมีลำโพงคู่หน้าเป็น Sasha D.A.W. ลำโพง SUB เป็น Watchdog

และกล่องควบคุม Watch controller เป็นกล่องปรับ Phase ของเสียงให้ตรงกับคู่หน้าแบบละเอียด ซึ่งปกติต้องใช้การเลื่อนลำโพง แต่เมื่อใช้กล่องนี้จะสะดวกขึ้นมาก และยังเป็นตัวปรับจุดตัดเสียงต่ำว่าให้ทำงานที่ความถี่เท่าไรจะได้สัมพันธ์กับคู่หน้าครับ โดยการเซ็ท SUB นั้นสำคัญที่สุดคือต้องให้เฟสตรง และจุดตัดเสียงพอดีไม่ทับซ่อนกันมากไป หรือจุดตัดห่างเกินไป

ลุงปีเตอร์สอนการเซ็ทอย่างง่ายให้ด้วยครับ โดยการหาจุดตัดที่จะใช้งานให้ได้ก่อน ยกตัวอย่างเช่น 40Hz เราก็เปิดเสียงเฉพาะลำโพงคู่หน้า ให้ได้ความดังระดับนึง และวัดด้วย APP ในมือถือยกตัวอย่างเช่น 80dB แล้วเราก็ปิดคู่หน้าเปิดซับให้ได้ความดัง 80dB เท่ากัน

จากนั้นก็เปิดพร้อมกันทั้งคู่หน้าและ SUB ครับ ลองเช็คดูว่าความดังมันลดลง หรือเพิ่มขึ้น ถ้าลดลงแสดงว่าเฟสหักล้างกันจนความดังหาย ถ้าเปิดพร้อมกันแล้วดังขึ้นก็แสดงว่าเฟสมันเสริมกันครั

และสิ่งหนึ่งที่ผมได้ความรู้เพิ่มคือ การใช้ SUB ในชุด 2ch. ไม่ใช่เป็นแค่การเสริมฐานเสียงต่ำให้ลึกขึ้น หรือเพิ่มปริมาณเสียงต่ำให้มากขึ้นเท่านั้นครับ แต่มันเป็นการเพิ่มบรรยากาศเสียงให้มันสมจริงขึ้นด้วย คือเหมือนมี Pressure เพิ่มขึ้นทางการสัมผัสด้วยร่างกาย ทำให้เสียงต่างๆมันจะชัดเจน และมีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งเสียงร้อง และเสียงแหลมครับ แต่ต้องปรับให้ลงตัวด้วยไม่งั้นเสียงกลางอาจจะเบลอได้ อันนี้ต้องใช้ความชำนาญและประสบการณ์ในการเซ็ทด้วยครับ

อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ คือการไปบ้านเดฟ เพื่อฟังลำโพง WAMM คู่ละ 20 ล้านกันครับ เข้ามาในห้องฟังเพลง เราก็ได้พบกับลำโพงตัวท็อปของค่ายตั้งตะหง่านอยู่ นั่นก็คือ “WAMM” (Wilson Audio Modular Monitor) ซึ่งตอนนี้เป็นที่กล่าวขวัญถึงพลังเสียง และความแม่นยำที่สุดของวงการ เพราะมันสามารถปรับระยะ และมุมก้มเงยของ Driver ทุกตัว ให้เข้ากับห้อง ตำแหน่งนั่งฟัง รวมถึงชดเชยเสียงจากแอมป์ต่างๆกันได้ ทำให้เราสามารถปรับแต่งจนได้เสียงที่ Perfect ที่สุดครับ

การออกแบบรูปทรงปีกด้านข้างของลำโพงคล้ายๆกับปีกนกที่กำลังบินครับ ดาริลกำลังเปรียบเทียบส่วนสูงของเค้ากับตัวลำโพง โดยลำโพง WAMM สูงถึง 214cm. และมีน้ำหนักมากถึง 408 kg./ข้าง

ใช้ Woofer จำนวน 2 ตัว, Lower Mid-Ranges 2 ตัว, Upper Mid-Ranges 2 ตัว, Tweeter 1 ตัว, Rear Firing Tweeter 1 ตัว และ Rear Firing Mid-Ranges อีกหนึ่งตัว รวมทั้งหมดใช้ไดร์เวอร์ 9 ชุดต่อข้างครับ

ที่ด้านข้างของลำโพงสามารถเปิดดูกลไกการทำงานของระบบ Micro Adjust สามารถปรับได้แบบละเอียดสุด

ถ้าผู้ฟังคนไหนมีทักษะในการฟัง และสามารถปรับเองได้ด้วยละก็ รับรองได้เสียงที่สุดยอดลงตัวกับห้อง กับ System ที่ใช้แน่ๆครับ นอกจากสวยงามแล้วยังสามารถปรับแต่งได้เยอะจริงๆ

ที่ด้านหลังของลำโพงก็จะมีที่จัดระเบียบสายลำโพงที่เชื่อมระหว่างตู้ ให้มีความเรียบร้อย และไม่ให้สายสั่นไปโดนกับตัวตู้ครับ แล้วแผงวงจรด้านหลังสำหรับตัว Resistor ที่ใช้ในการจูนเสียงของแต่ละ Driver และป้องกันความเสียหายของลำโพงด้วย

สังเกตุว่าอลูมิเนียมบน Panel มีการ CNC ชื่อของ เชอร์ริลไว้ที่ลำโพงข้างนึง และอีกข้างเป็นชื่อของเดฟครับ เป็นลำโพงคู่พิเศษจริงๆ 

ชุดที่จะใช้ฟังในส่วนเครื่องเล่นทางดิจิตอลนั้นเป็นของ dCS Vivaldi ทั้งชุด ส่วนแอมป์ที่ใช้ขับเป็น VTL ตัวท็อป Siegfried II ครับ

พอเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยก็พร้อมให้พวกเราฟังครับ ซึ่งจะผลัดกันฟังคนละเพลง เนื่องจากจุดฟังที่ Perfect ที่สุดจะมีจุดเดียว และตำแหน่งที่เหลือจะเฉลี่ยๆกันไปครับ

ลุงปีเตอร์มาเป็น DJ ให้เช่นเคย เค้าเลือกเพลงที่สามารถแสดงศักยภาพของลำโพง WAMM ให้ได้ฟังครับ ซึ่งพอผมได้ฟัง Track นึงของ KODO Album Mondo Head ผมถึงกับอึ้งไปเลยครับ คือสเกลเสียงใหญ่โอบล้อมตัวมากๆ เหมือนจำลองเวทีแสดงดนตรีมาไว้ตรงหน้า

ตำแหน่งทุกชิ้นนิ่ง ชัดเจนมาก และเพิ่งเข้าใจที่นักเล่นเค้าพูดกันว่าเสียงโดนตัวก็คราวนี้ คือไม่ใช่แค่เสียงต่ำที่มีแรงปะทะนะครับ แม้แต่เสียงไม้กลองตีขอบ ผมยังรู้สึกว่าหนังใต้ตากระดิกตามจังหวะเสียงที่ตีเลยครับ อันนี้สาบานว่าผมไม้ได้โม้แม้แต่นิดเดียว

ต้องขอขอบคุณทาง Wilson Audio อีกครั้งที่ให้โอกาสเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ของสุดยอดลำโพงในครั้งนี้ แถมยังมอบของที่ระลึกแบบประเมินค่าไม่ได้ให้ด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *