QPOINT กับการจัดระเบียบเครื่องเสียงทั้งซิสเตม

หลักการทำงานที่สำคัญอย่างหนึ่งในตัว Nordost QPOINT คือ การแก้ปัญหาการสั่นค้างในเชิงแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ electromagnetic resonance ที่ปรากฏอยู่ในเครื่องเสียงแต่ละเครื่องภายในซิสเตม

มีเรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องทราบตรงกันก่อนเลยนั่นก็คือ โดยปกติกลไก electromagnetic resonance ดังกล่าวนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ในเครื่องเสียงแต่ละเครื่อง เป็นพลังงานที่ไม่ได้ถูกจัดระเบียบให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน หรือสอดประสานกันอย่างลงตัว ดังนั้นก็จึงเป็นการยากที่จินตนาการว่าเสียงที่ได้ออกมานั้นจะออกมาเป็นเสียงที่ดีเลิศได้อย่างไร

ดังนั้นเพื่อกำจัดพฤติกรรมดังกล่าว QPOINT จึงเข้ามาทำหน้าที่จัดระเบียบและประสานให้ electromagnetic resonance  ดังกล่าวให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

โดยเมื่อจัดวาง QPOINT เอาไว้ที่เครื่องเสียงในตำแหน่งวงจรที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก (สามารถทราบได้จากภาพประกอบที่โชว์ด้านในเครื่องที่ค้นหาได้จาก Google) ตัว QPOINT จะทำการปล่อย ‘สนามไฟฟ้าพิเศษ’ ตามที่ได้ออกแบบเอาไว้ออกมาเพื่อควบคุม electromagnetic resonance ที่เกิดขึ้นในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นให้อยู่ในระบบระเบียบ ทำงานสอดประสานไม่แตกแถวออกจากกัน

ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นหลักการเดียวกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ได้ทำการทดสอบกับเครื่องเคาะจังหวะหรือเมโทรนอมแบบกลไกจำนวนหลายตัว ก่อนการเริ่มทดสอบเมโทรนอมทั้งหมดได้ถูกตั้งให้ทำงานในจังหวะที่เท่ากัน (bpm, beats per minute เท่ากัน) จากนั้นให้แต่ละตัวเริ่มทำงานไม่พร้อมกัน ดังนั้นเสียงเคาะจังหวะดัง ติ้กต่อก ๆ ๆ ทั้งหมดจึงดังสะเปะสะปะตีรวนกันไปหมด

หรือแม้แต่การทำให้ทุกตัวเริ่มทำงานพร้อมกัน เมื่อเวลาผ่านไปสักพักมันก็จะเริ่มเคาะจังหวะไม่ตรงกัน เนื่องจากในเมโทรนอมแต่ละตัวก็มีความคลาดเคลื่อนเล็ก ๆ น้อย ๆ

เมื่อมีการวางแผ่นรองรับเมโทรนอมทั้งหมดเอาไว้บนกระป๋อง 2 ใบ ทำให้การเหวี่ยงไปมาของแขนตุ้มเมโทรนอมแต่ละตัวสามารถปรับตัวเพื่อชดเชยแรงเหวี่ยงทางด้านข้างได้ด้วย เวลาผ่านไปเพียงชั่วครู่เมโทรนอมทั้งหมดก็สามารถเคาะจังหวะได้อย่างพร้อมเพรียงเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยมีเมโทรนอมที่เที่ยงตรงที่สุดตัวหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำแล้วให้ตัวอื่นค่อย ๆ ปรับตัวเข้าหามัน

เช่นเดียวกับ QPOINT ที่ได้ปล่อยสนามไฟฟ้าพิเศษที่มี electromagnetic resonance เฉพาะตัวที่เที่ยงตรงที่สุด สนามไฟฟ้าที่ว่านี้จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้นำเพื่อให้ electromagnetic resonance ในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ทำงานสอดประสานพร้อมเพียงกันทั้งหมด เหมือนการปรับตัวเข้ากันของเมโทรนอมหลาย ๆ ตัวที่สามารถปรับตัวให้เคาะจังหวะตรงกันได้

เมื่อทั้งหมดได้รับการจัดระเบียบนั่นก็หมายถึงคุณภาพเสียงที่ได้จากซิสเตม จะเป็นคุณภาพเสียงในระดับสูงสุดที่แท้จริง ซึ่งเราควรได้ยินได้ฟังจากชุดเครื่องเสียงของเราเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *