“หูฟัง” ประเภทและการใช้งาน
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้หูฟังเป็นสินค้าออดิโอที่ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นเพราะความหลากหลาย หลากหลายทั้งด้านราคา รูปแบบ และวัตถุประสงค์ในการใช้งาน
ในอีกมุมหนึ่งนั่นอาจเป็นข้อเสียที่บางคนคาดไม่ถึง เพราะว่าการที่เรามีตัวเลือกมากขึ้น การตัดสินใจซื้อก็ยากมากขึ้นตามไปด้วย เพราะนอกจากต้องเลือกยี่ห้อ เลือกรุ่น เลือกฟังเสียงที่ถูกใจแล้ว ยังต้องดูด้วยว่าหูฟังนั้นเหมาะกับการใช้งานหรือไลฟ์สไตล์ส่วนตัวหรือเปล่า
การแบ่งประเภทของหูฟังนั้นเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย จำเป็นต้องแยกประเภทเป็น ลักษณะทางอะคูสติก, รูปทรงและลักษณะการใช้งาน และเทคโนโลยี
แบ่งจากลักษณะทางอะคูสติก
1. หูฟังอะคูสติกแบบปิด (Closed-Back Headphones) หูฟังแบบนี้ส่วนที่เป็น acoustic chamberหรือห้องอากาศที่ติดตั้งตัวไดรเวอร์นั้นถูกออกแบบให้ปิดมิดชิดจนไม่สามารถมองเห็นชิ้นส่วนด้านหลังของตัวไดรเวอร์ได้เลย คลื่นเสียงจากตัวไดรเวอร์นั้นถูกถ่ายทอดส่งตรงเข้าหูโดยตรง
จุดเด่นของหูฟังประเภทนี้คือการเก็บเสียงที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากตัวหูฟังออกสู้ภายนอก หรือเสียงจากภายนอกเข้ามาในหูฟัง เหมาะกับการใช้งานในที่สาธารณะ ที่ไม่อยากรบกวนผู้อื่น ขณะเดียวกันก็ต้องการหลีกเลี่ยงเสียงรบกวนแวดล้อมด้วย
ขณะที่จุดด้อยของหูฟังประเภทนี้มักเป็นเรื่องความกว้างของมิติเสียง หรือความโปร่งโล่งของเสียงที่ทำให้ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลายมากกว่า
2. หูฟังอะคูสติกแบบเปิด (Open-Back Headphones) หูฟังแบบนี้การออกแบบและคุณสมบัติเกือบจะเป็นตรงกันข้ามกับหูฟังแบบ Closed-Back ทั้งหมด ห้องอากาศที่ติดตั้งตัวไดรเวอร์นั้นถูกออกแบบให้เปิดโล่งที่ด้านหลังตัวไดรเวอร์ เปิดโอกาสให้คลื่นเสียงที่ด้านหลังตัวไดรเวอร์ได้ถูกปลดปล่อยออกสู่ภายนอก
จุดเด่นของหูฟังประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องของคุณภาพเสียง โดยเฉพาะด้านความโปร่งใส ความกระจ่างชัด ตลอดจนซาวด์สเตจที่กว้างขวาง หูฟังประเภทนี้มักจะให้บรรยากาศเสียงที่ดีกว่าหูฟังแบบ Closed-Back
แต่ทั้งหมดนั้นก็ต้องแลกมาด้วยคุณสมบัติที่เป็นตรงกันข้ามกับหูฟังแบบ Closed-Back นั่นคือมันไม่เก็บเสียง หูฟังประเภทนี้คลื่นเสียงมักเล็ดลอดออกมาให้คนที่อยู่รอบข้างได้ยิน ขณะเดียวกันเสียงรบกวนต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอกก็สามารถรบกวนเสียงในหูฟังได้ง่ายมาก
ดังนั้นหูฟังประเภทนี้จึงเหมาะกับการใช้งานแบบนั่งอยู่กับที่เช่น ที่บ้านหรือในห้องส่วนตัวมากกว่า ไม่เหมาะจะใช้งานในที่สาธารณะหรือใช้งานในระหว่างการเดินทาง
แบ่งตามรูปทรงและลักษณะการใช้งาน
1. หูฟังแบบออนเอียร์ (On-Ear Headphones) หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า supra-aural เป็นหูฟังที่ถูกออกแบบให้ปิดทับอยู่บนใบหู มีขนาดใหญ่กว่าหูฟังแบบเอียร์บัด (Earbuds) แต่ขนาดเล็กและกะทัดรัดกว่าหูฟังโอเวอร์เอียร์ (Over-Ear Headphones)
หูฟังประเภทนี้เมื่อสวมใส่ใช้งานจะไม่มีหรือมีเสียงเล็ดลอดออกมาน้อยมากเนื่องจากปิดทับเต็มใบหู โดยเฉพาะถ้าเป็นหูฟังแบบ Closed-Back เป็นหูฟังที่สามารถออกแบบให้ใช้ไดรเวอร์ขนาดใหญ่ถ่ายทอดเสียงทุ้มลึกได้ในขณะที่ยังมีขนาดกะทัดรัด พกพาได้สะดวก โดยเฉพาะรุ่นที่ออกแบบให้สามารถพับเก็บได้
อย่างไรก็ดีหูฟังประเภทนี้อาจไม่เหมาะกับการใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะว่าหูฟังที่กดทับอยู่บนใบหูอาจทำให้เกิดอาการเจ็บใบหูได้เมื่อใช้งานเป็นเวลานาน
2.หูฟังโอเวอร์เอียร์ (Over-Ear Headphones) หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า circus-aural เป็นหูฟังที่ถูกออกแบบให้สวมใส่ใช้งานแบบวางครอบไปบนศีรษะ และครอบอยู่บริเวณรอบใบหู หูฟังประเภทนี้มักออกแบบให้มีไดรเวอร์ขนาดใหญ่ (40-100mm หรือใหญ่กว่า) มีแบนด์วิดธ์กว้าง โดยเฉพาะในย่านความถี่ต่ำ
เช่นเดียวกับการถ่ายทอดซาวด์สเตจหรือเวทีเสียงที่มีความกว้างขวางโอ่โถง โดยเฉพาะถ้าเป็นหูฟังแบบ Open-Back หูฟังแบบโอเวอร์เอียร์หากว่าออกแบบให้สวมใส่สบายและไม่หนักจนเกินไปจะเป็นหูฟังที่เหมาะกับการใช้ฟังเพลงเป็นระยะเวลานาน
อย่างไรก็ดีหูฟังประเภทนี้อาจทำให้เกิดการสะสมของเหงื่อบริเวณรอบใบหูได้ โดยเฉพาะถ้าหากตัววัสดุที่ใช้ทำเอียร์แพดไม่สามารถระบายความร้อนได้ดี อีกเรื่องหนึ่งคือหูฟังประเภทนี้มักจะให้เสียงดีที่สุดเมื่อมีการใช้งานร่วมกับภาคขยายเสียงหูฟังคุณภาพดี หรือมีกำลังสำรองมากเพียงพอ หลายรุ่นอาจต้องการใช้ร่วมกับภาคขยายเสียงแบบแยกชิ้นคุณภาพสูง
3. หูฟังประเภทอินเอียร์ (In-Ear Headphones) บางครั้งอาจเรียกในชื่อ in-ear monitors (IEMs) ชื่อของหูฟังประเภทนี้มีที่มาจากลักษณะการสวมใส่ใช้งานที่ต้องแหย่ปลายจุกซิลิโคนหรือจุกโฟมเข้าไปในรูหู เพื่อส่งคลื่นเสียงเข้าสู่แก้วหูโดยตรงอย่างมีประสิทธิภาพ
หูฟังอินเอียร์เป็นหูฟังที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา มีความไวสูง และเก็บเสียงได้ดี เพราะกับการใช้งานแบบพกพาทั้งในและนอกสถานที่ สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เล่นเพลงแบบพกพาหรือสมาร์ทโฟนได้ดีและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันหูฟังอินเอียร์มีการใช้ไดรเวอร์ทั้งแบบไดนามิก และบาลานซ์อามาเจอร์ บางรุ่นก็เป็นลูกผสมแบบไฮบริด หรือมีการออกแบบให้เป็นมัลติไดรเวอร์
4. หูฟังเอียร์บัด (Earbuds) เป็นหูฟังขนาดเล็ก ส่วนมากเลือกใช้ไดรเวอร์แบบไดนามิกขนาด 6-15mm เป็นหูฟังที่มีรูปแบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ส่วนมากจะออกแบบให้มีครอบโฟมหรือขอบยางช่วยซีลระหว่างตัวหูฟังกับรูหูเพื่อช่วยในเรื่องการตอบสนองความถี่ต่ำ
จุดเด่นของหูฟังประเภทนี้คือ ความสะดวกในการใช้งาน สามารถสวมใส่ใช้งานได้เป็นเวลานาน เพราะน้ำหนักเบาและไม่บีบรัดใบหู ในขณะที่ยังให้คุณภาพเสียงที่ดี เป็นหูฟังที่มีความไวสูงสามารถใช้งานกับเครื่องเล่นแบบพกพาหรือสมาร์ทโฟนได้ดี ขณะที่การตอบสนองความถี่ต่ำอาจเป็นรองหูฟังประเภทอื่น ๆ อยู่บ้างเนื่องจากขนาดของตัวไดรเวอร์และเรื่องของอะคูสติก
แบ่งตามเทคโนโลยี
1. หูฟัง Bluetooth (Bluetooth Headphones) เป็นหูฟังที่ใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบไร้สายแทนการใช้งานสัญญาณเสียงตามปกติ มีจุดเด่นในแง่ของความสะดวกคล่องตัวในการใช้งานเนื่องจากไม่ต้องมีสายในการเชื่อมต่อ
หูฟัง Bluetooth ยังสามารถแยกย่อยไปได้อีกตามลักษณะของการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นหูฟังแบบฟูลไซส์โอเวอร์เอียร์, หูฟังไร้สายแบบสปอร์ตเช่น ดีไซน์แบบ neckband หรือหูฟังไร้สายแบบ true wireless
จากอดีตถึงปัจจุบันหูฟังบลูทูธได้มีการพัฒนาเทคนิคการเข้ารหัสเสียงแบบไร้สายให้มีคุณภาพดีขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีการเข้ารหัสที่มีการใช้งานอยู่ก็อย่างเช่น SBC, AAC, aptX, aptX HD และ LDAC (เรียงตามลำดับคุณภาพเสียง)
ข้อจำกัดของหูฟังประเภทนี้คือ ในเวลาใช้งานตัวหูฟังจำเป็นต้องมีพลังงานจากแบตเตอรี่ ทำให้หูฟังประเภทนี้จำเป็นต้องมีการชาร์จแบตเตอรี่เหมือนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ทั่วไป
อย่างไรก็ดีหูฟังสมัยใหม่โดยเฉพาะหูฟังไร้สายบลูทูธในกลุ่มโอเวอร์เอียร์ได้ถูกออกแบบให้มีแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้นานหลายสิบชั่วโมงหรืออาจยาวนานข้ามวัน ขณะที่หูฟังไร้สายบางรุ่นได้ออกแบบให้สามารถใช้งานแบบเสียบสายหูฟังได้ด้วย
2. หูฟังตัดเสียงรบกวน (Noise-Cancelling Headphones) เป็นหูฟังสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีตัดหรือลดทอนเสียงรบกวนจากภายนอก หรือจากสภาพแวดล้อม โดยอาศัยเทคนิคการใช้ไมโครโฟนรับเสียงรบกวนจากภายนอกเข้ามาแล้วประมวลผลก่อนส่งสัญญาณที่ประมวลผลแล้วออกไปหักล้างกับเสียงรบกวนที่แพร่เข้ามาในหูฟัง
หูฟังตัดเสียงรบกวนพบเห็นได้ทั้งแบบที่เป็นหูฟังเสียบสายและหูฟังแบบไร้สาย หูฟังไร้สายสมัยใหม่อาจมาพร้อมฟังก์ชันที่สามารถเชื่อมต่อใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนได้
นอกจากนั้นบางรุ่นยังมีฟังก์ชันเพิ่มเติมอย่างเช่น การควบคุมสั่งงานด้วยระบบสัมผัส (gesture control), การเปิดฟังเสียงจากภายนอกได้, การเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถปรับระดับการลดทอนเสียงรบกวนได้เอง ตลอดจนการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียง (virtual assistant)